นายชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จันทบุรี (สวพ.6) กรมวิชาการเกษตร เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เป็นประจำทุกปีเรื่องทุเรียนอ่อนก็เกิดจากชาวสวนเร่งตัดออกมาขายบางคนก็เจอปัญหาน้ำไม่พอจากภัยแล้งก็จะรีบตัดออกมาเพื่อลดความเสี่ยง ปีนี้มีมากกว่าทุกปี เพราะราคาจูงใจและการซื้อขายทุเรียนปัจจุบันนี้พ่อค้าจะเหมาสวน หรือเรียกว่า “เหมาคว่ำหนาม” ก็คือ ซื้อทุกลูก ราคาเดียว ยกตัวอย่าง 150 บาท ทุกลูก ทุกหนาม จะให้ราคาเดียว เพราะฉะนั้นเมื่อทำสัญญากันแบบนี้ล้ง หรือพ่อค้า จะส่งมือตัดทุเรียนไปตัดทั้งสวน จากนั้นล้งจะมาคัดที่มีคุณภาพ ถ้าลูกแก่ก็จะส่งไปต่างประเทศ
ปัญหาก็คือทุเรียนที่คัดไม่ผ่าน ด้อยคุณภาพหรืออ่อน ล้งก็จะเอามาขายในตลาดท้องถิ่นราคาต่ำก็กลายเป็นว่าตลาดท้องถิ่นมีแต่ทุเรียนอ่อน ส่วนคุณภาพดีส่งไปตลาดต่างประเทศหมด ทั้งนี้พ่อค้าแม่ค้าที่มาจากต่างจังหวัด หรือจากจังหวัดไกล เช่น จังหวัดขอนแก่น เชียงใหม่ และพิษณุโลก เป็นต้น ได้มาซื้อจากตลาดท้องถิ่น อาทิ ตลาดเนินสูง จังหวัดจันทบุรี เป็นต้น ได้ทุเรียนอ่อนไปก็นำไปโพสต์ลงโซลเซียล จึงส่งผลทำให้ชื่อเสียงของจังหวัดเสียหาย
นายชลธี กล่าวว่า คณะ สวพ.6 ตั้งหน่วย “เล็บเหยี่ยว” เข้ามาคุมเข้ม ซึ่งมองว่าทุเรียนอ่อนที่จะไปต่างประเทศคงมีไม่มาก อย่างไรก็ดีปีนี้พิเศษเป็นครั้งแรกที่ได้ตั้งชื่อทีมชุดเฉพาะกิจ เป็นชื่อ “เล็บเหยี่ยว” มาจากพันธุ์ทุเรียนที่รับประทานอร่อยที่สุด ตระกูลกบ เนื้อเหนียวละเอียด ทาง สวพ.จึงนึกถึงชื่อนี้ขึ้นและเมื่อตั้งแล้วดูน่าเกรงขาม
“ส่วนทุเรียนเหมาสวน ณ วันที่ 10 มีนาคม 2563 ราคาอยู่ที่ 150-155 บาท คาดว่าไม่น่าจะมีปัญหาเนื่องความต้องการของตลาดมีมาก ขณะที่ผลผลิตมีไม่เพียงพอ ล้งแย่งกันซื้อ แล้วข่าวที่ออกไปว่าขายไม่ได้ ไม่เป็นความจริง เมื่อวานได้ลงไปตรวจในพื้นที่ บางล้งก็หาทุเรียนขายไม่ได้ นับว่าเป็นสถานการณ์ที่ดีมาก”
อย่างไรก็ตามพบเห็นการจำหน่ายทุเรียนอ่อนแจ้งสวพ.6 หรือสำนักงานเกษตรจังหวัดจันทบุรี สำนักงานเกษตรอำเภอหรือที่ทำการอำเภอทุกอำเภอ ช่วยกันสอดส่องและขจัดคนทำไม่ดีออกไปจากวงการทุเรียน