นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการแปรนโยบายเร่งด่วนของกระทรวงคมนาคมไปสู่การปฎิบัติครั้งที่ 3/2563 ว่า สำหรับความคืบหน้าในการพิจารณานโยบายปรับเวลาการอนุญาตให้รถยนต์บรรทุกขนาดตั้งแต่ 10 ล้อขึ้นไป เข้าเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลได้ตั้งแต่เวลา 00.00 – 04.00 น. ในเขตพื้นที่ถนนกาญจนาภิเษก วงแหวนรอบนอกหมายเลข 9 เมื่อวันที่ 12 มี.ค. ที่ผ่านมา กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ได้ประชุมรับฟังความเห็นจากภาคเอกชนเกี่ยวกับนโยบายดังกล่าว พบว่า มีภาคเอกชนได้รับผลกระทบ 4 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.กลุ่มโรงงานประกอบรถยนต์อีซูซุ และฮีโน่ มีโรงงานตั้งอยู่บริเวณถนนปู่เจ้าสมิงพราย ซึ่งตั้งอยู่บริเวณวงแหวนรอบนอกระบุว่าได้รับผลกระทบ เป็นอย่างมากจากมาตรการดังกล่าว ซึ่งได้มอบหมายให้กรมการขนส่งทางบกไปหารือรายละเอียดผลกระทบว่าด้านไหน และสามารถจัดเวลาในช่วงพิเศษได้หรือไม่
2.สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กังวลว่าการจำกัดเวลาวิ่งจะส่งผลกระทบทำให้การขนส่งบริเวณท่าเรือกรุงเทพหรือคลองเตยแออัดมากขึ้น รวมทั้งเสนอให้ภาครัฐเร่งจัดหาผู้ประกอบการมาดำเนินงานสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง ไอซีดีลาดกระบัง และเร่งพัฒนานำระบบสารสนเทศเข้ามาใช้ภายในท่าเรือคลองเตย ขณะเดียวกันการท่าเรือแห่งประเทศไทย( กทท.) จะปรับปรุงระบบเทคโนโลยีการขนถ่าย คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 63 สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องดังกล่าวได้ ทั้งนี้อีก 5 ปีข้างหน้า ท่าเรือคลองเตยจะถูกปรับให้เป็นท่าเรือเพื่อการท่องเที่ยว โดยให้ย้ายการขนส่งตู้สินค้าทั้งหมดไปยังท่าเรือแหลมฉบังแทน
3. ผู้ขนส่งคอนกรีตมีความกังวลว่าอาจจะส่งผลกระทบต่อโครงการก่อสร้างขนาดเล็กและ โครงการก่อสร้างบ้านพักอาศัยของประชาชน และ 4.สมาคมขนส่งสินค้า และโลจิสติกส์ไทย ไม่เห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าวโดยเสนอแนะให้กระทรวงคมนาคมยกเลิกนโยบายดังกล่าว เพราะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการขนส่ง
“เราตั้งใจทำให้นโยบายนี้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม ซึ่งนโยบายลักษณะนี้ในต่างประเทศ เช่น ปักกิ่ง และโตเกียวได้ดำเนินการกันแล้ว โดยให้กรมการขนส่งทางบกเร่งทำความเข้าใจกับเอกชนทั้ง 4 กลุ่ม ว่านโยบายนี้เป็นการจัดระเบียบเรื่องการจราจรแก้ปัญหารถติด ที่ทำให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน หากทุกคนขีดวงกลมให้ตัวเองและต้องการความสะดวกสบายหรือต้องการกำไรสูงสุด โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชน เราจะไม่มีวันแก้ปัญหาของประเทศได้ ดังนั้นเราต้องคุยเพื่อทำความเข้าใจกัน”
อย่างไรก็ตามได้สั่งการให้กรมทางหลวง (ทล.) และ กรมทางหลวงชนบท (ทช.) จัดหาจุดพักรถให้กลุ่มรถบรรทุก เพื่ออำนวยความสะดวกแก่รถบรรทุกที่ต้องจอดรอในการเดินรถเข้ากรุงเทพฯ และปริมณฑลในช่วงเวลาที่กำหนดให้เดินรถ ทั้งนี้ทล.เตรียมจัดพื้นที่ดังกล่าวให้บริการทั้ง 7 จุด โดยจะพิจารณาหาพื้นที่ของเอกชน เพื่อนำมาเป็นจุดพักรถเพิ่มเติม อาจจะใช้รูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP)