28 เมษายน 2563 ศ.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติเห็นชอบโครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้ความช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรตามกลุ่มเป้าหมายของโครงการฯ จำนวนไม่เกิน 10 ล้านราย วงเงินรวมไม่เกิน 150,000 ล้านบาท
มาตรการเยียวยาเกษตรกร กำหนดกลุ่มเป้าหมายเป็นเกษตรกรไม่เกิน 10 ล้านราย กลุ่มแรก คือ เกษตรกรที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตร กรมปศุสัตว์ และกรมประมง จำนวน 8.43 ล้านราย แลเกษตรกรเป้าหมาย กลุ่มที่สอง ได้แก่ เกษตรกรที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลการขึ้นทะเบียน ไม่เกิน 1.57 ล้านราย
เกษตรกรที่ได้รับความช่วยเหลือในมาตรการนี้ จะได้รับเงินจ่ายตรงเดือนละ 5,000 บาทตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ถึง กรกฎาคม 2563 รวม 15,000 บาทต่อราย ซึ่งจะช่วยให้มีรายได้เพียงพอต่อการยังชีพในช่วงภาวะวิกฤติ และมีความจําเป็นเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาเพื่อเพิ่มเติม สภาพคล่องทางเศรษฐกิจ และป้องกันการเกิดปัญหาทางสังคมที่อาจจะตามมา
สําหรับเกษตรกรที่ยังไม่ลงทะเบียนสามารถลงทะเบียนเกษตรกรได้ที่กรมส่งเสริมการเกษตร กรมปศุสัตว์ กรมประมง ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2563
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
มาตรการนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) จะแบ่งจ่ายเงินช่วยเหลือให้แก่กลุ่มเกษตรกรจำนวน10 ล้านราย ในช่วงเดือนพฤษภาคม ถึง กรกฎาคม 2563
อย่างไรก็ตามเกษตรกรที่จะได้รับเงินช่วยเหลือ 10 ล้านราย ต้องไม่ซ้ําซ้อนกับการได้รับความช่วยเหลือภายใต้โครงการ"เราไม่ทิ้งกัน" และผู้ที่ได้รับ สวัสดิการผ่านระบบข้าราชการบํานาญของกรมบัญชีกลาง และมาตรการเยียวยาผู้ประกันตนของสํานักงานประกันสังคม
ทั้งนี้กรมส่งเสริมการเกษตร กรมปศุสัตว์ กรมประมง จะดําเนินการปรับปรุงทะเบียน เกษตรกรให้เป็นปัจจุบัน และส่งข้อมูลและเลขประจําตัวประชาชน 13 หลัก ให้ ธกส. โดยทางธกส. จะตรวจสอบเลขประจําตัวประชาชน 13 หลักกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อขจัดความซ้ําซ้อนของข้อมูลทั้ง 3 หน่วยงาน
นอกจากนี้ทางธกส. จะตรวจสอบข้อมูลเลขประจําตัวประชาชน 13 หลัก กับข้อมูลผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือภายได้โครงการเราไม่ทิ้งกัน อีกทางหนึ่งด้วย เมื่อตรวจสอบเสร็จธกส. จะดําเนินการจ่ายเงินช่วยเหลือตามช่องทาง และกลไกของธนาคารฯ ที่ตรวจสอบได้
ส่วนการตรวจสอบความตกหล่นของผู้ที่จะได้รับเงินเยียวยา ทางกรมส่งเสริม การเกษตร กรมปศุสัตว์ กรมประมง และหน่วยงานที่มีการขึ้นทะเบียนผู้ปลูกยาง อ้อย หม่อนไหม จะดําเนินการปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรที่ตกหล่น และส่งข้อมูลและเลขประจําตัวประชาชน 13 หลัก ให้กับ ธกส.
ขณะเดียวกันจะจัดให้มีช่องทางการอุทธรณ์ในกรณีที่มีผู้ร้องว่าเป็นผู้ตกหล่น โดยแจ้งขอตรวจสอบ รายชื่อกับหน่วยงานรับลงทะเบียน