จากมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) (29 เม.ย.63) เห็นชอบมาตรการ เยียวยาเกษตรกรครัวเรือนละ 15,000 บาท รวม 10 ล้านครัวเรือน วงเงินรวม 1.5 แสนล้านบาท โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอจ่ายรวม 3 เดือน เดือนละ 5,000 บาท
วันที่ 29 เมษายน 2563 นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ปัจจุบันข้อมูลการขึ้นทะเบียนกรมส่งเสริมการเกษตรได้มีเกษตรกรมาปรับปรุงสมุดทะเบียนเกษตรกร รวมทั้งเกษตรกร 5 พืช ที่เข้าร่วมโครงการประกันรายได้เกษตรกรปี 2562/63 มีเกษตรกรเข้ามาปรับปรุงทะเบียนกว่า 6.2 ล้านครัวเรือน กลุ่มนี้เรียกว่า100% ยืนยันได้แน่นอน
แต่ทั้งนี้การลงทะเบียนของกรมส่งเสริมการเกษตร ในส่วนด้านพืช จะมีบางส่วนที่ไม่ได้ดูแล อาทิ เกษตรกรผู้ปลูกอ้อย ยาสูบ ยาพารา และหม่อนไหม ต้องนำรายชื่อเกษตรกในส่วนของกรมนำไปทาบกับเกษตรกรรายชื่อดังกล่าวว่าซ้ำซ้อนหรือไม่ เนื่องจากเกษตรกรทำพืชผสมผสานมีหลายกิจกรรรม ดังนั้นชื่อจะต้องไม่ซ้ำซ้อน เรียกว่า "ได้ 1 สิทธิ์ 1 กิจกรรม " เท่านั้น
เช่นเดียวกับนายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์เรียน ท่านอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ในส่วนของกรมปศุสัตว์ได้รับรายงานข้อมูลทะเบียนเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ที่เข้าหลักเกณฑ์การได้รับการเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจาก Covid-19ดังนี้ 1.วันที่ 21 เม.ย.2563 จำนวน 1,600,155 ราย 2.วันที่ 22-27 เม.ย.2563 เพิ่มเติม ตรวจสอบแล้ว 5,964 ราย และอยู่ระหว่างรอการตรวจสอบจากปศุสัตว์อำเภอ จำนวน 60,132 ราย
ด้านนายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า กำลังอยู่ในขั้นตอนการเก็บรวบรวมข้อมูล แล้วจะจากนั้นจะนำข้อมูลต่างๆ ไปเชื่อมกับหน่วยงานอื่นที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรไว้
ปิดท้ายนายขจรจักษณ์ นวลพรหมสกุล รักษาการผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า ได้ส่งข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา ทั้งบัตรสีเขียว และบัตรสีชมพู ส่งไปให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เรียบร้อยหมดแล้ว
อนึ่ง การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) มีการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา ก่อนวันที่ 1 เมษายน 2563 จำนวน 1,723,917 คน พื้นที่สวนยางกรีดได้ 19,400,970 ไร่