ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย มาประชุมร่วมกับนายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นายยุทธนา พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากร ภาคที่ 4 เกี่ยวกับผลกระทบจากการส่งออกนำเข้าสินค้าระหว่างไทยกับมาเลเซีย
นายจุรินทร์ เผยว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้า ประเทศมาเลเซียเพื่อขอให้ช่วยพิจารณาผ่อนปรน การส่งออกนำเข้าสินค้าผ่านทาง ด่านฯปาดังเบซาร์ อ.สะเดา และด่านฯบ้านประกอบ อ.นาทวี เพิ่มเติม
โดยในส่วนของด่านฯปาดังเบซาร์ หลังจากที่ประเทศมาเลเซียเปิดให้มีการส่งสินค้าผ่านระบบราง (ขบวนรถไฟ) เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา แต่ยังจำกัดให้เฉพาะผลิตภัณฑ์ คือ ยางแผ่น และน้ำยางเท่านั้น จึงขอให้มาเลเซียช่วยพิจารณาผ่อนปรน อำนวยความสะดวก ให้ประเทศไทยสามารถส่งออกไม้ยางพาราและผลิตภัณฑ์ ผลไม้ รวมถึงสินค้ารายการอื่นๆ ไปยังมาเลเซียผ่านด่านฯปาดังเบซาร์ได้ด้วย
สำหรับด่านฯบ้านประกอบ อ.นาทวี ขอให้ทางมาเลเซียพิจารณาในการเปิดให้มีการส่งออกสินค้าเหมือนปกติที่ผ่านมา ซึ่งที่ผ่านมาเราสามารถส่งออกสินค้าผ่านทางรถยนต์ไปได้
แต่ขณะนี้เนื่องจากประเทศมาเลเซียไม่อนุญาตให้นำเข้าสินค้าจากประเทศไทย ในรายการต่างๆ ที่เราต้องการส่งออก จึงทำให้ปัจจุบันที่ด่านฯบ้านประกอบเราไม่สามารถส่งสินค้าใดๆ ข้ามแดนผ่านจุดนี้เข้าไปได้เลย
“ได้รับคำตอบล่าสุด การจะอนุญาตผ่อนปรนเพิ่มเติมนั้น จะต้องผ่านที่ประชุมสภาความมั่นคงของมาเลเซียเสียก่อน ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีมาเลเซียเป็นประธานฯ และคาดว่าภายใน 1-2 สัปาดห์นี้ จะได้รับคำตอบจากทางการมาเลเซีย”
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวอีกว่า หากประเทศมาเลเซียยอมผ่อนปรนตามที่ไทยเสนอ ก็จะส่งผลดีกับเกษตรกรชาวสวนยางภาคใต้ ที่ส่งออกน้ำยางข้นไปยังประเทศมาเลเซียในปริมาณที่สูงมาก จากจำนวนสินค้าทั้งหมดที่ส่งออกไปยังประเทศมาเลเซีย
สำหรับผลิตภัณฑ์ยางนั้น เราส่งออกน้ำยางข้นผ่านด่านฯนี้ ในช่วงไตรมาแรกมีสัดส่วนถึงร้อยละ 88 ของผลิตภัณฑ์ยางทั้งหมดทุกชนิด ที่ส่งออกไปเป็นมูลค่ารวม 4,864 ล้านบาทเพื่อนำไปผลิตถุงมือยาง
และปรากฏว่าถุงมือยางขายดีมากในช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่เกิดขึ้น เพราะวงการแพทย์และวงการอื่นๆ จำเป็นต้องใช้ผลิตภัณฑ์จำนวนมาก ทำให้น้ำยางข้นจากประเทศไทยขายดีขึ้น แต่ติดขัดในการขนส่งผ่านด่านฯต่างๆ ดังกล่าว
รวมทั้งจะเป็นประโยชน์กับกลุ่มผลไม้แช่เย็น แช่แข็ง และผลไม้แห้งจากภาคใต้และจากภาคอื่นๆ ทั่วประเทศ เนื่องจากผลิตภัณฑ์ผลไม้แช่เย็น แช่แข็ง และผลไม้แห้งนั้น ส่งออกไปยังมาเลเซียจำนวนมาก โดยในช่วงไตรมาสแรกเราส่งออกไปถึง 150 ล้านบาท ซึ่งตัวเลขการส่งออกควรสูงได้กว่านี้ถ้า 2 ด่านนี้เราส่งออกได้สะดวกยิ่งขึ้น
นายพงศักดิ์ บุญสุข ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการเดินรถภาค 4 การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผย “ผู้สื่อข่าว” ว่า หลังจากที่ประเทศมาเลเซียยอมเปิดระบบรางให้มีการส่งออกสินค้าจากประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา
“ในช่วงที่ผ่านมาเป็นการระบายสินค้าที่ตกค้าง หลังจากประเทศมาเลเซียปิดการเชื่อมระบบรางตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2563 ในขณะที่ปริมาณสินค้าในช่วงนี้มีไม่มาก เนื่องจากผลผลิตยางที่ออกสู่ตลาดมีน้อย สินค้าที่ส่งผ่านฯด่านปาดังเบซาร์ผ่านระบบราง (รถไฟ) นั้น กว่า 80 เปอร์เซ็นต์เป็นสินค้าผลิตภัณฑ์ยาง เมื่อผลผลิตลดลงทำให้ปริมาณสินค้าที่ส่งออกก็ลดลงตามไปด้วย”
โดยปัจจุบันปริมาณตู้สินค้าที่ส่งไปประเทศมาเลเซีย วันละประมาณ 3 ขบวนๆ ละ 20 ตู้ บางวันก็ลดลงเหลือ 2 ขบวน แต่คาดว่าตั้งแต่ช่วงต้นเดือนพ.ค.เป็นต้นไป ผลผลิตยางจะเพิ่มขึ้น ปริมาณการส่งออกก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
หน้า 17 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,571 วันที่ 3 - 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2563