ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เป็นประธานการประชุมภาคเอกชน เพื่อหารือแนวทางการผ่อนคลาย ให้เริ่มกิจกรรม-กิจการบางประเภท ที่เป็นความจำเป็นพื้นฐานและไม่เสี่ยงแพร่เชื้อรอบใหม่แล้ว ได้เชิญผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน นักธุรกิจจากภาคส่วนต่างๆ นั่งพูดคุยหารืออย่างไม่เป็นทางการ เพื่อคิดหาแนวทางเตรียมการรองรับอนาคต ที่คนไทยจะต้องมีวิถีการดำเนินชีวิตประจำวันใหม่ หรือ New Normal ได้อย่างไร
เพื่อให้ประชาชนกลับมาขับเคลื่อนสังคมเศรษฐกิจชีวิตประจำวันได้อย่างปลอดภัย ซึ่งจังหวัดอุดรธานีเป็นจังหวัดที่มีการค้า การลงทุน การบริการ ทั้งจากผู้ประกอบการในพื้นที่และจากกลุ่มธุรกิจนอกพื้นที่เป็นจำนวนมากมีทั้งที่พร้อมจะกลับมาเปิดให้บริการจำนวนหนึ่ง แต่ก็มีอีกบางส่วนที่ยังไม่พร้อม ทั้งนี้ต้องรอประกาศจากรัฐบาลเป็นแนวปฏิบัติกลางก่อน
ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี กล่าวอีกว่า ทางจังหวัดและหลายภาคส่วนเห็นว่าหลังวิกฤติโควิด-19 ยังมีความจำเป็นต้องดูแลในลักษณะแบ่งปันทุกข์สุขร่วมกัน ซึ่งทางจังหวัดได้พิจารณาเตรียมการในเรื่องของงบประมาณที่เป็นการพึ่งพาตนเองก่อนเพื่อแบ่งเบาภาระส่วนกลาง จึงได้มีการเชิญบุคคลที่อยู่ในวงการธุรกิจ นักลงทุนผู้ประกอบการ ตลอดจนประชาชนจากทุกวงการ ที่มีฐานะและความพร้อมที่สามารถแบ่งปันการช่วยเหลือชาวจังหวัดอุดรธานี ด้วยการนำเอาแนวทางดำเนินการของรัฐบาลมาต่อยอดขยายผลในระดับจังหวัด
โดยขอให้บุคคลดังกล่าวนั้นไปช่วยทำแผนการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนว่าสามารถช่วยเหลือฝ่ายไหนอย่างไรเพื่อให้การช่วยเหลือดังกล่าวเกิดความยั่งยืนถาวร โดยยึดหลักการ 4 ประการคือ
1. จะทำอย่างไรให้ประชา ชนจังหวัดอุดรธานี ไม่อดอาหารหลังวิกฤตการณ์โรคโควิค-19
2.ต้องลดรายจ่าย
3.สร้างโอกาส ทำอย่างไรให้พี่น้องประชาชนสามารถกลับมามีรายได้ในทุกๆ ครัวเรือนได้ และ
4.การจ้างงานโดยให้ผู้ประกอบการธุรกิจเปลี่ยนจากการเคยจ้างงานต่างชาติมาเป็นการจ้างงานแรงงานในท้องถิ่นก่อน
“เพื่อให้เป็นการซ่อมบ้านสร้างเมืองอุดรธานีโดยยึดแนวทางของรัฐบาลมาเป็นแนวทาง
ต่อยอดขยายผลให้พี่น้องชาวจังหวัดอุดรธานี สามารถลุกขึ้นมายืนได้ด้วยตนเองอย่างรวดเร็ว” นาย
นิรัตน์กล่าว
ทั้งนี้มีบางกรณีที่มีการเริ่มต้นทำกันแล้ว เช่น การลดค่าใช้จ่ายของประชาชน มีนักธุรกิจรายหนึ่งแจ้งความประสงค์ที่จะช่วยเหลือเป็นเบื้องต้นจากที่มีประชาชนจำนวนหนึ่งนำเอาทรัพย์สินไปจำนำเอาไว้กับโรงจำนำ หรือสถานธนานุบาลทั้งของรัฐและเอกชนในจังหวัดอุดรธานีสำรวจรายที่มีต้นเงินตํ่ากว่า 1,000 บาทลงมามีจำนวน 1,203 ราย เพื่อนำเอาเงินที่ได้มาไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวันที่จำเป็นจึงไปขอไถ่ถอนทรัพย์สินที่มีเงินต้น 500 บาทลงมา ซึ่งมีจำนวน 576 ราย เอาทรัพย์สินคืนเจ้าของทรัพย์ไป ส่วนที่มีเงินต้น 501-1,000 บาท มี 727 ราย ได้ช่วยชำระดอกเบี้ยให้เป็นเวลา 4 เดือน เพื่อแบ่งเบาภาระให้ลูกหลานชาวอุดรธานีด้านเศรษฐกิจระดับรากหญ้า
นอกจากนี้แล้วที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดอุดรธานีมีมติเห็นชอบตามข้อเสนอสมาคมผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมไทยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สั่งผู้ประกอบการโรงแรมจำนวน 26 แห่ง ให้หยุดดำเนินธุรกิจออกไปอีก 1 เดือน เนื่องจากเกรงว่าหากเปิดดำเนินการมีการรวมตัวของคนจำนวนมากเสี่ยงแพร่กระจายเชื้อได้
ด้านการปิดล้อมและคัดกรองเพื่อควบคุมการแพร่กระจายเชื้อในอุดรธานียังคงดำเนินการอย่างเข้มข้น โดยเปิดศูนย์พักพิงชั่วคราวขึ้นที่อาคารศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน วัดโพธิวราราม เขตเทศบาลนครอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี โดยร่วมกับหน่วยงานรัฐ เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สำนักงานพุทธศาสนา วัฒนธรรมจังหวัด ในชื่อ “ค่ายห่วงใย” เพื่อให้การช่วยเหลือกลุ่มคนไร้ที่พึ่ง ไรับ้านคนตกงานจากจังหวัดต่างๆ ที่ยังไม่สามารถเดินทางกลับไปยังภูมิลำเนาของตนเองได้เป็นการคุ้มครองสวัสดิการสวัสดิภาพคนไร้ที่พึ่งให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ส่วนการรองรับคนอุดรธานีที่ไปทำงานภูเก็ตและกำลังกลับภูมิลำเนาผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า ได้เร่งประสานขอข้อมูลจังหวัดภูเก็ตเป็นการด่วนแล้ว เพื่อเตรียมรับคนอุดรธานีทุกคนกลับบ้าน ที่มีกว่า 296 คน เพราะเขาเป็นลูกหลานชาวอุดรฯ
พร้อมทั้งสั่งการให้ด่านเข้าเมืองอุดรธานีทั้ง 4 ทิศเพิ่มความเข้มงวดตรวจคัดกรอง
รถทุกคัน ตรวจทุกคน อย่างละเอียดเพิ่มขึ้น กรอกประวัติที่อยู่ภูมิลำเนาเพื่อส่งต่อให้กับพื้นที่ในการติดตามตัวได้ในกรณีเหตุฉุกเฉินได้ทันทีหากพบว่ามีความสงสัยว่ามีอาการสงสัยให้นำส่งโรงพยาบาลทันทีส่วนที่ไม่มีอาการก็ให้นำส่งศูนย์กักตัว 14 วัน “ค่ายฮีโร่”
“จังหวัดอุดรธานี มีความพร้อมในการดำเนินการตามมาตรการกักตัว 14 วัน ที่สามารถรับได้พร้อมกันได้มากกว่า 500 คน มีอยู่ 3 แห่ง คือ อาคารกองกำกับการ ตชด.ที่ 24 ค่ายเสนีย์รณยุทธอาคารกองร้อย อส.จังหวัดอุดรธานีและอาคารหอพักหญิงมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี” นายนิรัตน์กล่าวย้ำ