จากกรณีที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้เปิดเว็บไซต์ www.เยียวยาเกษตรกร.com โดยเปิดให้เกษตรกรลงทะเบียนเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2563 เวลา 20.00 น.ในโครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา 2019 นั้นมีความคืบหน้าอย่างไร
แหล่งข่าวธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เมื่อวานวันที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมาเพิ่งได้รับข้อมูลจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทั้งหมด 8.3 ล้านราย ได้นำรายชื่อเกษตรกรประกาศผ่านเว็บไซต์ ลงทะเบียนเยียวยาเกษตรกร ธ.ก.ส. ไปแล้วกว่า 6 ล้านราย และในวันนี้จะขึ้นให้ทั้งหมด 8.3 ล้านราย แล้วจะให้ฝ่ายคอมพิวเตอร์เพิ่มช่องให้ใส่เลขมือถือให้เกษตรกรกรอกเบอร์ไว้เผื่อในกรณีฉุกเฉินที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม
เนื่องจากจะต้องมีการตรวจสอบว่าเป็นเกษตรกร และรายชื่อจะต้องไม่ซ้ำซ้อนกับโครงการที่ช่วยเหลือไปก่อนหน้านี้แล้ว ก็คือ โครงการ "เราไม่ทิ้งกัน" ซึ่งจะเริ่มจ่ายเงินตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค.2563 เป็นต้นไป แล้วทยอยจ่ายไปเรื่อย โดยจะได้รับเดือนละ 5 พันบาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตามมติครม.
ด้าน นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวนเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนไม่เกิน 10 ล้านราย ประกอบด้วย 1 เกษตรกรเป้าหมายกลุ่มแรก (ข้อมูลสรุป ณ 30 เม.ย. 63) จำนวนไม่เกิน 8.33 ล้านราย 2. เกษตรกรเป้าหมายกลุ่มที่สอง ได้แก่ เกษตรกรที่อยู่ระหว่างการขึ้นทะเบียน ซึ่งจะหมดเขต วันที่ 15 พ.ค. 63 จำนวนไม่เกิน 1.67 ล้านราย
ทั้งนี้นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ.ได้กำชับทุกหน่วยงานในกระทรวงเกษตรฯทุกพื้นที่เร่งการขึ้นทะเบียนและการตรวจสอบเพื่อไม่ให้มีการตกหล่นและจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ให้เกษตรกรไทยผ่านพ้นวิกฤติในครั้งนี้ โดยธ.ก.ส.จะโอนเงินให้เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนตั้งแต่วันที่15พ.ค.เป็นต้นไป
นอกเหนือจากสถานการณ์โควิด-19 แล้ว พี่น้องเกษตรกรยังประสบปัญหาภัยแล้งและอุทกภัย กระทรวงเกษตรฯ จึงมีมาตรการต่าง ๆ เข้ามาช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรนอกเหนือจากมาตรการเยียวยาในช่วงโควิด-19 เช่น ในส่วนของกรมประมง จะมีการแจกจ่ายปลานิลแปลงเพศ ประมาณ 44,000 ราย รายละ 800 ตัว พร้อมอาหารปลาจำนวน 120 กิโลกรัม ซึ่งถือเป็นการเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่งให้กับเกษตรกร และ ยังมีการปล่อยกุ้งก้ามกร้าม ตามแหล่งน้ำสาธารณะ 1,436 แห่ง 129 อำเภอ แห่งละ 200,000 ตัว
และให้มีการตั้งคณะกรรมการมาดูแลแหล่งน้ำชุมชน เพื่อให้เป็นระบบในการบริหารจัดการแหล่งน้ำร่วมกัน โดยวัตถุประสงค์หลักเพื่อต้องการให้เกษตรกรและคนในชุมชนมีอาหารไว้บริโภคในครัวเรือนและเมื่อเหลือแล้วถึงเอาไปขาย โดยดำเนินการในลักษณะของชุมชน นอกจากนี้ ในส่วนของกรมปศุสัตว์ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณในการมอบเป็ดไข่ ไก่ไข่ ไก่เนื้อ ประมาณ 77,000 ครอบครัว เพื่อให้เกิดรายได้อีกทางหนึ่งด้วย”
ส่วนกรมประมงเร่งนำเรื่องการกำหนดงดเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทั่วประเทศ เป็นเวลา 1 รอบการประมง หรือ 2 ปี และโดยจะออกกฎกระทรวงตามมาตรา 6 แห่ง พรก.การประมง อย่างเร่งด่วนเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในการออกกฎกระทรวงงดเว้นค่าธรรมเนียมดังกล่าวทั้งระบบเพื่อช่วยเหลือชาวประมงในช่วงวิกฤติ COVID-19 นี้ โดยจะมีเกษตรกรที่ได้รับประโยชน์ทั้งสิ้นกว่า 8,302 ราย รวมพื้นที่กว่า 79 ล้านตารางเมตร
“ในกรณีของชาวไร่มีการสนับสนุนงบประมาณในการปลูกพืชใช้น้ำน้อย เช่น ถั่วเขียว ข้าวโพด มีการจัดสรรให้ 12,000 ครอบครัว เกือบ 100,000 ไร่ นอกจากนี้ยังมีการจัดสรรเมล็ดพันธุ์ข้าว จำนวนหลายหมื่นตัน โดยให้กรมการข้าวและกรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นผู้ผลิตและจัดสรรให้กับเกษตรกร ซึ่งการดำเนินการในลักษณะดังกล่าวจะทำให้เม็ดเงินกลับคืนไปสู่เกษตรกร”
ด้านนายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีโครงการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 นั้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่เกษตรกรที่มาติดต่อเพื่อขึ้นและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรได้มอบหมายให้สำนักงานเกษตรอำเภอในทุกพื้นที่เปิดให้บริการแก่พี่น้องเกษตรกร โดยทำการเปิดให้บริการทุกวันไม่เว้นวันหยุด ตั้งแต่วันนี้ – 15 พ.ค. 2563
สอดคล้องนายชาตรี บุญนาค รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากเจ้าหน้าเกษตรจะปฏิบัติงานในพื้นที่อย่างขันแข็งแล้ว ยังมีอาสาสมัครเกษตรกร หรือ อกม. ซึ่งเป็นบุคคลากรที่สำคัญที่เข้ามาช่วยปฏิบัติหน้าที่ในช่วงนี้ด้วยเช่นกัน โดยในช่วงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 นั้น อกม. จะทำหน้าที่แจ้งมูลข่าวสารและประชาสัมพันธ์การขึ้นทะเบียน ช่วยจัดระเบียบผู้เข้ารับการบริการ ทั้งตอบคำถาม คัดกรอง วัดอุณหภูมิ ตรวจสอบและรับรองการขึ้นทะเบียน ส่วนกรณีหากอยู่ในพื้นที่ อกม. จะช่วยตรวจรับเอกสารเบื้องต้น และสอนการใช้แอพพลิเคชั่น ณ จุดนัดพบ คือที่ทำการของ อกม. หรือบ้านของ อกม. หลังจากนั้นจึงส่งข้อมูลต่อให้เจ้าหน้าที่ต่อไป
ทั้งนี้ อกม. เป็นอาสาสมัครที่มาทำหน้าที่ด้วยใจ มิได้รับเงินเดือนหรือสวัสดิการใดๆ จากทางราชการ โดยในปัจจุบันมี อกม. จำนวน 75,105 ราย คอยทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลพื้นฐานทางการเกษตร เช่น การขึ้นทะเบียนเกษตรกร (ทบก.) รายงานข้อมูลภาวการณ์ผลิตพืชรายตำบล (รต.)/ รายงานข้อมูลภาวะการผลิตพืชรายอำเภอ (รอ.) จัดทำแผนพัฒนาการเกษตรระดับหมู่บ้าน ประสานงาน ถ่ายทอดความรู้และแก้ไขปัญหาด้านการเกษตร
เช่น การเป็นวิทยากร การประสานเพื่อให้เกิดการถ่ายทอดความรู้ และการเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรของหมู่บ้าน เช่น การจัดทำแปลงทดสอบ แปลงส่งเสริม แปลงขยายพันธุ์ในหมู่บ้าน เป็นต้น รวมทั้งคอยประสานงานแก้ไขปัญหาทางการเกษตรในหมู่บ้าน โดยการสำรวจ รายงาน และดำเนินการหรือประสานเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาของเกษตรกร