นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า ขณะนี้ได้ส่งทะเบียนเกษตรกรที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับขึ้นทะเบียนรับเงินเยียวยาเกษตรกรส่งให้กระทรวงการคลัง ตรวจสอบความซ้ำซ้อนกับโครงการเราไม่ทิ้งกัน ทั้งในส่วนของลูกจ้างเอกชนที่อยู่ในระบบประกันสังคม และข้าราชการบำนาญแล้วข้อมูลล่าสุดพบว่ามีความซ้ำซ้อนกันอยู่ประมาณ 7-8 แสนราย จากที่สศก.ส่งทะเบียนเกษตรกรไปทั้งสิ้น 8.33 ล้านราย ดังนั้น คนผ่านเกณฑ์ที่จะได้รับเงินเยียวยาเกษตรกร 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ขณะนี้จึงมีเพียง 7 ล้านกว่ารายเท่านั้น
ทั้งนี้ เตรียมเสนอครม. เพื่อทบทวนสิทธิเกษตรกรที่จะได้รับเงินเยียวยาเกษตรกร ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพราะหากยึดมติครม.เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2563 กลุ่มข้าราชการที่ทำการเกษตร และขึ้นทะเบียนเกษตรกรไว้แล้ว ก็จะได้รับสิทธิเงินเยียวยานี้ ดังนั้นจำเป็นต้องขอทบทวนสิทธิของผู้ได้รับเงินเยียวยา ไม่เช่นนั้นข้าราชการกลุ่มนี้ที่มีจำนวนมากพอสมควร ก็จะได้รับเงินช่วยเหลือจากภาครัฐไปด้วย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
เตรียมเช็ก “เยียวยาเกษตรกร” ประเดิมโอนเงินวันแรก 1 ล้านราย 15 พ.ค.
ปิดศูนย์อุทธรณ์ เยียวยาเกษตรกร
“ผมเห็นว่าจำเป็นต้องขอทบทวนมติครม. เพราะในมติครม.กำหนดไว้เพียงความซ้ำซ้อนกับโครงการเราไม่ทิ้งกัน ลูกจ้างเอกชน ที่อยู่ในระบบประกันสังคม ข้าราชการบำนาญที่ทำการเกษตร ที่ไม่มีสิทธิได้รับเงินเยียวยาจากเกษตรกร แต่ข้าราชการประจำที่ทำการเกษตรเป็นอาชีพ 2 และยื่นขอรับเงินเยียวยามาด้วยจำนวนหนึ่งในกลุ่มนี้ หากไม่ขอทบทวนสิทธิการเยียวยาจากคณะรัฐมนตรี ข้าราชการกลุ่มนี้จะได้รับเงินช่วยเหลือเช่นเกษตรกรทั่วไป”