นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ปีนี้ไทยจะขึ้นมาติดอันดับ 1 ใน 10 ของประเทศผู้ส่งออกอาหารของโลกได้หรือไม่นั้นยังต้องลุ้น โดยช่วงโควิด-19 ไทยมีโอกาสส่งออกสินค้าอาหารพร้อมทานหรือพร้อมปรุงในกลุ่มคอนซูเมอร์ที่ขายผ่านซูเปอร์มาร์เก็ตในประเทศต่างๆ ได้เพิ่มขึ้น เพราะส่วนนี้ไม่ถูกปิด แต่ละประเทศยังเปิดให้ซื้อหากลับไปทานหรือปรุงที่บ้านได้
ส่วนสินค้าอาหารที่เป็นวัตถุดิบป้อนบรรจุถุงขนาดใหญ่ให้กับฟู้ดเซอร์วิส เช่นโรงแรม ภัตตาคาร ร้านอาหารในต่างประเทศ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว หรือการจัดเลี้ยงต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่เวลานี้ยังปิดให้บริการ (ยกเว้นซื้อกลับไปทานที่บ้าน) จากได้รับผลกระทบจากนักท่องเที่ยวที่ยังไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศได้ ซึ่งส่วนนี้กระทบกับการส่งออกอาหารของไทย
สำหรับกรณีดีที่สุดปีนี้การส่งออกสินค้าอาหารของไทย อาจทำได้ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาหากผ่านครึ่งแรกปีนี้แต่ละประเทศสามารถยกเลิกล็อกดาวน์ ธุรกิจท่องเที่ยวและบริการกลับมาเปิดตามปกติแต่ยังคงมาตรการที่เข้มงวดในการควบคุมโรคไทยมีโอกาสส่งออกอาหารได้เพิ่มส่วนกรณีเลวร้ายจากล็อกดาวน์ในหลายประเทศยังไม่นิ่ง และหลายประเทศอาจมีล็อกดาวน์รอบใหม่ตามสถานการณ์ความรุนแรงของโควิดสลับกันไปในอีก 6 เดือนข้างหน้าการส่งออกอาหารคาดจะติดลบ
“เพื่อผลักดันการส่งออกสินค้าอาหารของไทยให้เพิ่มขึ้นท่ามกลางสถานการณ์โควิดที่เราไม่สามารถเดินทางไปเจรจากับลูกค้าโดยตรงได้ ภาคเอกชนร่วมกับภาครัฐ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้มีความร่วมมือ เช่น การใช้ Virtual Trade Show หรืองานแสดงสินค้าผ่านทางออนไลน์ให้ผู้ส่งออกและนำเข้าได้พบปะและเจรจาการค้ากัน โดยเน้นประเทศที่ไม่มีข้อกีดกันทางการค้ามาก เช่น อาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ รัสเซีย กลุ่มซีไอเอส รวมถึงการใช้ระบบออนไลน์คอนเฟอเรนซ์ให้ผู้ส่งออกที่สนใจในแต่ละตลาดได้พูดคุยโดยตรงกับทูตพาณิชย์ 58 สำนักงานทั่วโลก เพื่อขอให้ช่วยอัพเดตสถานการณ์ตลาดแต่ละประเทศว่ามีความต้องการสินค้าอะไรเพิ่มเติมบ้าง การขนส่งทำได้เป็นปกติหรือยัง ที่ไหนยังล็อกดาวน์ หรือคลายล็อกดาวน์แล้ว เพื่อผลักดันการส่งออกสินค้าไทยเพิ่ม เป็นต้น”
ด้านนายชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรม ทูน่าไทย สินค้าอาหารที่ไทยส่งออกเป็นอันดับ 1 ของโลกเผยว่า การส่งออกทูน่ากระป๋องของไทยช่วง 1-2 เดือนแรกปีนี้ลดลงตามภาวะปกติ แต่เดือนที่ 3 คือมีนาคมที่มีสถานการณ์โควิด-19 รุนแรง ปริมาณการส่งออกขยายตัว 10% ส่วนไตรมาสที่ 2 คาดปริมาณส่งออกจะขยายตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า 15% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากตลาดต่างประเทศมีความต้องการและนำเข้าเพิ่ม และไตรมาสที่ 3 น่าจะยังขยายตัวได้ดี และภาพรวมปีนี้การส่งออกทูน่ากระป๋องน่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นในเชิงปริมาณ 5-10% ส่วนเชิงมูลค่าคาดจะขยายตัวบวกหรือลบ 3% ซึ่งเป็นไปตามภาวะราคาวัตถุดิบที่ส่งผลต่อราคาสินค้ายังมีความผันผวน (ปี 2562 ไทยส่งออกทูน่ากระป๋อง 5.29 แสนตัน มูลค่า 6.72 หมื่นล้านบาท)
หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3575 วันที่ 17-20 พฤษภาคม 2563