นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2563 มีมติเห็นชอบการดำเนินโครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(โควิด-19) ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ความสำคัญและถือว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องเยียวยาเกษตรกร รายละ 5,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม - กรกฎาคม 2563 รวมวงเงินของโครงการ 150,000 ล้านบาท นั้น
“ความคืบหน้าโครงการฯ ในส่วนของการลงทะเบียนรับการช่วยเหลือเยียวยานั้น เกษตรกรกลุ่มแรกที่ขึ้นทะเบียนแล้วจำนวน 8.33 ล้านราย ได้ผ่านการตรวจสอบความซ้ำซ้อนแล้ว 6,773,517 ราย โดยทางกระทรวงเกษตรฯได้ส่งมอบข้อมูลให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อดำเนินการโอนเงินให้กับเกษตรกร ตั้งแต่วันที่ 15 – 25 พฤษภาคม 2563 ซึ่งขณะนี้ผ่านมา 3 วัน ธ.ก.ส. ได้จ่ายเงินเยียวยาไปแล้วกว่า 14,812 ล้านบาท ผ่านช่องทางบัญชี ธ.ก.ส. บัญชีธนาคารอื่นตามที่ได้ลงทะเบียนไว้ และพร้อมเพย์ตามเลขบัตรประชาชน
ส่วนเกษตรกรกลุ่มที่สอง ซึ่งได้ปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 จำนวน 1.57 ล้านคน กระทรวงเกษตรฯ มีกำหนดจ่ายเงินเยียวยาในวันที่ 30 - 31 พฤษภาคม 2563 ส่วนเกษตรกรกลุ่มที่สาม ที่ไม่สามารถทำการเพราะปลูกได้นั้น ให้ขึ้นทะเบียนเพิ่มเติมได้ถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 และจะจ่ายเงินภายในวันที่ 27 – 31 กรกฎาคม 2563” นายอลงกรณ์ กล่าว
สำหรับเกษตรกรที่ลงทะเบียนแล้ว สามารถเข้าไปตรวจสอบสิทธิ์เงินเยียวยาเกษตรกรได้ที่ www.savefarmer.oae.go.th และตรวจสอบผลการโอนเงินได้ที่
www.เยียวยาเกษตรกร.com สำหรับเกษตรกรที่ไม่สามารถลงทะเบียนได้จากสาเหตุต่าง ๆ สามารถอุธรณ์การเยียวยาได้ที่หน่วยงานที่รับขึ้นทะเบียนเกษตรกรในส่วนกลางและภูมิภาคทั้ง 8 หน่วยงาน ประกอบด้วย
1) กรมส่งเสริมการเกษตร ที่สำนักงานเกษตรอำเภอทุกแห่ง 2) กรมประมงที่สำนักงานประมงจังหวัด และสำนักงานประมงอำเภอทุกแห่ง 3) กรมปศุสัตว์ ที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด และสำนักงานปศุสัตว์อำเภอทุกแห่ง 4) กรมหม่อนไหม ที่กรมหม่อนไหม และศูนย์หม่อนไหม 21 แห่ง 5) การยางแห่งประเทศไทยประจำจังหวัด และสาขาทุกแห่ง 6) ยาสูบแห่งประเทศไทย ในส่วนภูมิภาคทุกแห่ง
7) สำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย ในส่วนภูมิภาคทุกแห่ง และ 8) สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด ทุกจังหวัด ตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม – 5 มิถุนายน 2563 ในเวลาราชการ (ไม่เว้นวันหยุดราชการ) ยกเว้นเกษตรกรกลุ่มที่สาม สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ในวันที่ 27 – 31 กรกฎาคม 2563
นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ ยังเตรียมพร้อมให้คำปรึกษาและตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับโครงการฯ ดังกล่าวในเบื้องต้นแก่เกษตรกร ผ่านช่องทาง Call Center 1170 ซึ่งผลการดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 15 – 19 พ.ค. ที่ผ่านมา 4 วันทำการ ได้ให้บริการเกษตรกรไปแล้วรวม 817 รายอีกด้วย
นายอลงกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังได้ร่วมกับ แกร็บ ประเทศไทยในการช่วยเหลือร้านอาหารและผู้ประกอบการรายย่อย ด้วยการจัดอบรมเพื่อให้ความรู้แก่ร้านอาหารและผู้ประกอบการรายย่อย ถึงวิธีการขยายช่องทางการค้าผ่านการขึ้นมาอยู่บนแพลตฟอร์มแกร็บ และความรู้เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจแบบ Cloud Kitchen หรือครัวกลางที่จะช่วยขยายโอกาสการเติบโตทางธุรกิจให้ร้านอาหาร และช่วยขจัดช่องว่างและข้อจำกัดด้านสถานที่ตั้งของร้านอาหารในพื้นที่ต่างๆ
ทั้งนี้ แพลตฟอร์มแกร็บ ถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการหารายได้ การเพิ่มยอดขาย การขยายฐานลูกค้า และยังลดภาระด้านการจัดหาพนักงานส่งอาหาร โดยแกร็บ ได้มีการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการรายย่อยในการเปิดรับสมัครผ่านช่องทางออนไลน์บนเว็บไซต์ https://www.grabmerchantth.com ซึ่งร้านค้าสามารถสมัครและเปิดร้านค้าให้ได้ภายใน 7-10 วัน
ทั้งนี้ความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับพันธมิตรภาคเอกชนอย่างแกร็บ ประเทศไทย มีจุดประสงค์เพื่อช่วยเหลือร้านอาหารและผู้ประกอบการรายย่อย ผ่านการอบรมและช่วยเหลือให้สามารถขึ้นมาอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์อย่างแกร็บได้ง่ายยิ่งขึ้น เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางเสริมรายได้ ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการจ้างพนักงานส่งอาหาร-สินค้าที่ถือเป็นต้นทุนทางธุรกิจ รวมไปถึงจัดการบริหารร้านผ่านแพลตฟอร์มได้ด้วยตนเอง โดยร้านค้าที่สนใจขยายช่องทางการค้าผ่านแกร็บฟู้ด สามารถสมัครผ่านทางเว็บไซต์ https://www.grabmerchantth.com