ดึงเอกชน ลงทุนพีพีพี รื้อใหญ่ลุย "มอเตอร์เวย์" 6,612 กม. ประกบ "ทางคู่"

30 พ.ค. 2563 | 02:00 น.
อัปเดตล่าสุด :30 พ.ค. 2563 | 09:16 น.

ที่ผ่านมากรมทางหลวง (ทล.) เตรียมเข็นเมกะโปรเจ็กต์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ที่ริเริ่มพัฒนาเส้นทางสายดังกล่าวในปี 2559 ซึ่งเป็นเส้นทางที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งและโลจิสติกส์ของภาคอุตสาหกรรม เติมเต็มโครงข่ายคมนาคมขนส่งในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ขณะเดียวกันช่วยขยายโอกาสด้านการค้าและการลงทุนอย่างต่อเนื่อง

รื้อแผนแม่บท “มอเตอร์เวย์”

ล่าสุด นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้สัมภาษณ์ว่า สำหรับนโยบายของนายกรัฐมนตรี ต้องการให้ปรับปรุงแผนแม่บทในการออกแบบและก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ระยะทาง 6.6 พันกิโลเมตร เพื่อบูรณาการให้สอดคล้องกับแผนพัฒนารถไฟทางคู่ ขณะนี้ ได้มอบหมายให้กรมทางหลวง (ทล.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และกระทรวงคมนาคม ทำงานร่วมกัน โดยให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ออกแบบในการปรับปรุงแผนดังกล่าว หากดำเนินการได้ ไทยจะเป็นศูนย์กลางอาเซียน ซึ่งจะทำให้เกิดการลงทุนในอนาคต

ดึงเอกชน ลงทุนพีพีพี รื้อใหญ่ลุย \"มอเตอร์เวย์\" 6,612 กม. ประกบ \"ทางคู่\"

“แผนแม่บทมอเตอร์เวย์ จะเป็นเส้นทางคู่ขนานกับรถไฟทางคู่ โดยแนวเส้นทางที่น่าจะเกิดขึ้นได้ เช่น รถไฟทางคู่ช่วงนครราชสีมา - หนองคาย ทั้งนี้จะนำโครงการมอเตอร์เวย์ไปประกบกับรถไฟทางคู่ ที่อาจไม่คู่ขนานกันตลอดแนวเส้นทาง เนื่องจากบางเส้นทางต้องหลบชุมชน ขณะเดียวกันได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาต้นทุนในการก่อสร้างต่ำที่สุด เพื่อทำให้การคิดค่าบริการที่ถูกลง รวมถึงเวนคืนที่ดินน้อยที่สุด เพื่อไม่ให้กระทบต่อประชาชน”

ผุดไอเดีย ดึงเอกชนร่วม PPP

ขณะเดียวกันมีแนวคิดให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) เนื่องจากการปรับปรุงแผนแม่บทดังกล่าวจำเป็นต้องใช้งบประมาณการลงทุนที่มีมูลค่าสูง หากโครงการส่วนใดมีการบูรณาการและออกแบบแล้วเสร็จ จะเริ่มทยอยเปิดประมูลเพื่อก่อสร้างทันที สำหรับงบประมาณเพื่อลงทุนปรับปรุงแผนฯ นั้น จะใช้เงินกองทุนทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ซึ่งจะใช้เวลาดำเนินการแล้วเสร็จไม่เกิน 2 ปี เนื่องจากตามแผนแม่บทในการปรับปรุงทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ในปัจจุบันสามารถดำเนินการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ได้เพียง 200 - 300 กิโลเมตร เท่านั้น ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีมีวิธีคิดระบบพีพีพี เพื่อดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้จะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยได้สิทธิร่วมลงทุนก่อน หากผู้ประกอบการไทยเต็มกำลังความสามารถแล้ว หลังจากนั้นจะเปิดให้โอกาสให้ผู้ประกอบการต่างชาติเข้ามาร่วมลงทุน

หนุนเก็บค่าผ่านทาง ระบบ M Flow

ที่ผ่านมาในประเทศไทยมีระบบเก็บเงินค่าผ่านทางหลายระบบ เช่น ด่านเก็บเงินสด ด่านเก็บเงินกึ่งอัตโนมัติ ทำให้กระทรวงคมนาคมมีนโยบายที่จะบูรณาการร่วมกับการใช้เทคโนโลยีแบบ AI เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการจ่ายค่าผ่านทาง ขณะนี้ได้มอบหมายให้กรมทางหลวง (ทล.) ศึกษาการใช้เทคโนโลยี AI เพื่อจัดทำระบบเก็บค่าผ่านทางอัตโมมัติ (M Flow) ซึ่งเป็นระบบ Single platform system

เบื้องต้นเป็นการใช้ระบบกล้องที่สามารถตรวจจับความเร็วรถถึง 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพื่อบันทึกข้อมูลทะเบียนรถที่เดินทางผ่านด่านมอเตอร์เวย์ โดยรถที่ผ่านด่านนั้นๆ สามารถวิ่งผ่านด่านได้ โดยไม่ต้องจอดรถหรือชะลอรถเพื่อจ่ายค่าผ่านทาง ขณะเดียวกันระบบจะประมวลผลและคำนวณค่าผ่านทางเพื่อเรียกเก็บเงินภายหลังสิ้นเดือน (Postpaid) ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มความสะดวกให้ประชาชนมากขึ้น ทั้งนี้จะขยายผลการศึกษาดังกล่าวไปถึงโครงการต่างๆ ของกรมทางหลวง (ทล.) และ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)

อย่างไรก็ตามคงต้องจับตาดูว่าในอนาคตกรมทางหลวง (ทล.) จะผลักดันเมกะโปรเจ็กต์มอเตอร์เวย์ควบคู่กับรถไฟทางคู่ได้หรือไม่ ถือเป็นภารกิจหนักที่กรมทางหลวงต้องเร่งดำเนินการเพื่อพิสูจน์ว่าไทยเป็นศูนย์  กลางในภูมิภาคอาเซียนได้ เช่นกัน

หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40  ฉบับที่ 3,578 วันที่ 28-30 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

ดึงเอกชน ลงทุนพีพีพี รื้อใหญ่ลุย \"มอเตอร์เวย์\" 6,612 กม. ประกบ \"ทางคู่\"