thansettakij
 ผุดโปรเจค500ไร่สร้าง “แลนด์มาร์ค”บึงกาฬ

ผุดโปรเจค500ไร่สร้าง “แลนด์มาร์ค”บึงกาฬ

06 มิ.ย. 2563 | 06:32 น.

“มท.3” ดันโปรเจคสร้าง “แลนด์มาร์คใหม่” 500ไร่ ถนนข่าวเม่า บึงกาฬ ตามโครงการผังเมืองรวม พัฒนาเมืองให้เมืองน่าอยู่ -กระตุ้นท่องเที่ยว เชื่อมสัมพันธ์สองฝั่งโขงไทย-ลาว

 

 

 

 

 

 กระทรวงมหาดไทยมีแผนพัฒนา โครงการ ตามผังเมืองรวม ในแต่ละจังหวัด เพื่อ ดึงจุดเด่น สร้างจุดขาย กระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่  ทั้งท่องเที่ยว เมืองน่าอยู่ ล่าสุด จังหวัดบึงกาฬได้รับคัดเลือกให้ เป็นเมืองชายโขง ที่มีศักยภาพ จากการเชื่อมสัมพันธ์ อันแน่นแฟ้นไปมาหาสู่กันระหว่างพี่น้องไทย-ลาว

 

ผุดโปรเจค500ไร่สร้าง “แลนด์มาร์ค”บึงกาฬ

นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.3) พร้อมคณะทำงาน ลงพื้นที่เพื่อมอบนโยบายและแนวทางการพัฒนาจังหวัดบึงกาฬ พร้อมลงสำรวจพื้นที่ในการเตรียมก่อสร้าง “แลนด์มาร์ค” โครงการพัฒนาตามผังเมืองรวมจังหวัดบึงกาฬ บริเวณริมถนนข้าวเม่า ตำบลวิศิษฐ์ อำเภอเมือง จังหวัดบึงกาฬ  ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม   พัฒนาจังหวัดบึงกาฬให้เป็นเมืองที่น่าอยู่ เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงในระดับประเทศ และเป็นแหล่งการค้าการลงทุนที่เชื่อมโยงกับประเทศในภูมิภาคอินโดจีน

 

หากการก่อสร้าง “แลนด์มาร์ค”  แล้วเสร็จคาดว่าจะเกิดประโยชน์สูงสุดกับจังหวัดบึงกาฬ ภาคอีสานตอนบน กับประชาชนในประเทศ และอาจจะทำให้จังหวัดบึงกาฬ เป็นเมืองต้นแบบให้กับจังหวัดอื่นๆ ในประเทศไทย ได้นำไปเป็นตัวอย่างในการพัฒนาให้เป็นเมืองน่าอยู่อาศัยอย่างยั่งยืนตลอดไป

 

ดังนั้นจึงมอบหมายให้กรมโยธาธิการและผังเมือง ออกแบบก่อสร้าง “แลนด์มาร์ค” ของจังหวัดบึงกาฬ บนพื้นที่ประมาณ 500 ไร่ บริเวณริมถนนข้าวเม่า ตำบลวิศิษฐ์ อำเภอเมือง จังหวัดบึงกาฬ โดยมีกรอบแนวคิดในการออกแบบ คือ 1. สร้างอัตลักษณ์ของจังหวัดบึงกาฬ ความเป็นพี่น้อง ไทย–ลาว (LANDMARK) โดยใช้ปฏิมากรรมเป็นตัวแทนที่แสดงถึงภูมิปัญญาดั้งเดิมสู่รูปแบบอัตลักษณ์ที่ทันสมัย 2. รักษาระบบนิเวศของพื้นที่เดิม (PARK) ให้มนุษย์และธรรมชาติอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลและสามารถเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

3. สร้างพื้นที่กักเก็บน้ำ (LAKE) บึงและสวนสาธารณะให้กับเทศบาลเมืองบึงกาฬ เพื่อระบบสาธารณูปโภคที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน 4. สร้างพื้นที่เชิงพานิชย์เพื่อเศรษฐกิจชุมชน (ECONOMIC AREA) เช่น พื้นที่เช่า (ตลาดคนเดิน ลานคนเมือง) เพื่อหารายได้ไว้ใช้ในการบำรุงรักษาพื้นที่สวนสาธารณะและสร้างรายได้ให้คนในชุมชน

5. ระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชน เขื่อนป้องกันตลิ่ง โดยคาดว่าจะเริ่มโครงการของบประมาณก่อสร้างประมาณปี 2565

 

 

 

 

นายทวีเกียรติ ศรีสกุลเมฆี สถาปนิกใหญ่ กรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย มอบหมายให้กรมโยธาธิการและผังเมือง ออกแบบก่อสร้าง “แลนด์มาร์ค” ของจังหวัดบึงกาฬ ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการศึกษาออกแบบโครงการเบื้องต้น ซึ่งกรมฯ ได้ดำเนินการออกแบบ

ประกอบด้วย 1. แลนด์มาร์คของจังหวัด ซึ่งเป็นลานพลาซ่าขนาดใหญ่ เชื่อมโยงแนวแกนของเมืองมุ่งสู่พื้นที่ริมแม่น้ำโขง 2. สวนสาธารณะขนาดใหญ่ของเมืองบึงกาฬ ประกอบด้วย สถานที่ออกกำลังกาย ลู่วิ่ง และทางจักรยาน ซึ่งจะเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ให้กับเมือง 3. บึงน้ำขนาดใหญ่ ใช้ประโยชน์ในการกักเก็บน้ำ และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวจังหวัดบึงกาฬ และ 4. โซนเศรษฐกิจชุมชน ประกอบด้วย ลานคนเมือง ตลาดถนนคนเดินพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรม ค้าขาย ให้กับชุมชน เพื่อสร้างรายได้ ให้กับคนในท้องถิ่น