มาตรการเยียวยาเกษตรกร ภายใต้โครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงการคลัง ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 28 เมษายน 2563 ซึ่งมีกรอบเยียวยาไม่เกิน 10 ล้านราย รายละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือนตั้งแต่เดือน พฤษภาคม - กรกฎาคม 2563 โดยจ่ายเงินผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการแบ่งกลุ่มเกษตรกรที่จะได้รับเงินเยียวยาเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่ม 1 เกษตรกรที่ปรับปรุงข้อมูลปี 2562/2563 ภายในวันที่ 30 เมษายน 2562 เป้าหมาย 8.3 ล้านราย และกลุ่ม 2 ได้แก่ เกษตรกรที่ปรับปรุงข้อมูลปลูกพืชระหว่างวันที่ 1-15 พฤษภาคม 2563 จำนวน 1.57 ล้านรายในกลุ่มหลังนี้ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือให้ชัดเจน โดยเห็นควรกำหนดให้เกษตรกรที่สามารถลงทะเบียนเพิ่มเติมจะต้องเป็นเกษตรกรที่ดำเนินการในพื้นที่ที่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งยังไม่ทราบจำนวนเกษตรกรจาก 8 หน่วยงานที่รับขื้นทะเบียนว่าใน 1.57 ล้านรายนั้นมีจำนวนเกษตรกรที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์จำนวนเท่าไร ซึ่งจะมีประชุมเพื่อคัดกรองกลุ่มนี้ออกมาว่าจะยืนยันมติเดิม หรือจะพลิกมติใหม่ให้ได้รับเงินเยียวยาเกษตรกรด้วย จะมีคำตอบในวันที่ 11 มิถุนายนนี้
นายสุนทร รักษ์รงค์ เลขาธิการสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย(สคยท.) และกรรมการบอร์ด กยท. เผยผ่านเฟสบุคส์ส่วนตัวว่า การเยียวยาเกษตรกรชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ 160,000 ราย ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด วาระเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะอนุกรรมการกลั่นกรองเงินกู้(ชุดเล็ก)วันนี้ และจะเสนอต่อคณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ ในวันที่ 11 มิ.ย.2563 คาดว่าจะเข้า ครม.ในวันอังคารที่ 16 มิ.ย.2563 เช่นเดียวกับโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 1 ที่ของบประมาณเพิ่มเติม 2,347 ล้านบาท คาดว่าจะเข้า ครม.วันที่ 16 มิ.ย.2563 และโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2 งบประมาณ 31,000 ล้าน คาดว่าจะเข้า ครม.วันที่ 16 มิ.ย.2563