เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.63 มีการประชุมคณะกรรมการเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง กยท. ระดับประเทศ ซึ่งมี คณะกรรมการเข้าร่วมประชุมกันอย่างพร้อมเพียง มีนายประพันธ์ บุญยเกียรติ ประธานบอร์ด กยท.ได้เข้าร่วมประชุมด้วย เพื่อให้การจัดการยางพาราทั้งระบบมีประสิทธิภาพ “ฐานเศรษฐกิจ” ได้เข้าไปติดตามผลการประชุม พร้อมกับปัญหา “เยียวยาเกษตรกร” ที่ดินไร้เอกสารสิทธิ์ ควรจะจ่ายเยียวยาโควิดหรือไม่
นายธีระชัย แสนแก้ว ประธานคณะกรรมการเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทยระดับประเทศ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ส่วนใหญ่บัตรสีชมพู กยท. ไปจดทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นเกษตรกร โดยจะมีเกษตรตำบลเป็นคนรับรอง และจดทะเบียนทั้งหมด แล้วมีการจ่ายไปแล้วในรอบแรก ซึ่งตรงนี้จะต้องใช้มาตรฐานเดียวกันจะมาเหลื่อมล้ำ ทางคณะอนุกลั่นกรองที่จะมีประชุมบ่าย 2 โมงวันนี้ (11 มิ.ย.63) ต้องจ่ายเยี่ยวยาผลกระทบจากโควิดด้วย นอกจากคนนั้นที่มีเงินเดือน หรือเป็นข้าราชการ ไม่ต้องไปให้ เช่นเดียวกับโครงการประกันรายได้เฟสแรก ก็ต้องขอบคุณนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่สามารถผลักดันให้ผู้ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ได้ชดเชยในโครงการประกันรายได้ด้วย ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลเลยที่จะไม่ให้เยียวยาโควิดในครั้งนี้ ยืนยันว่าควรจะให้ทุกคนที่เป็น “เกษตรกร”
สอดคล้องกับนายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์เครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทยระดับประเทศ และในนายกสมาคมสมาพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เป็นคนไทยเหมือนกัน ควรจะจ่ายให้เท่าเทียมกัน ผมว่าไม่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรที่มีเอกสารสิทธิ์หรือไม่มีเอกสารสิทธิ์ โดยเฉพาะชาวสวนยางบัตรสีชมพู เป็นผู้ที่จ่ายเงินเซสส์กิโลกรัมละ 2 บาท เช่นเดียวกัน รัฐบาลควรจะจ่ายให้
ด้านนายเขศักดิ์ สุดสวาท เลขาเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางระดับประเทศ กล่าวว่า คิดง่าย หากมาขึ้นทะเบียนกับ กยท.ได้ แสดงว่ารัฐพร้อมที่จะให้หรือไม่ ไม่เช่นนั้นจะรับขึ้นทะเบียนทำไม ผมว่าจะต้องให้ ธ.ก.ส.จ่ายเงินด้วย ต้องเชื่อมโยงกัน เพราะประกันรายได้ยังจ่ายเงินเลย ในเงินก้อนเดียวกัน แล้วทำไมถึงจะไม่จ่ายเงินให้กับคนที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ไม่เช่นนั้นจะ 2 มาตรฐาน ดังนั้นควรจะให้เพราะเป็นเกษตรกรที่อยู่ในประเทศไทย ควรจะจ่ายแยกคนกรีดยางกับชาวสวนยาง จะมาแบ่ง 60:40 แบบโครงการประกันรายได้ จะต้องจ่ายแยกเป็นรายบุคคล รายครอบครัว เป็นตามนโยบายของรัฐบาล
เช่นเดียวกับนายสังข์เวิน ทวดห้อย บอร์ด กยท. กล่าวว่า ที่ดินไม่มีเอกาสารสิทธิ์ อย่าไปมองตรงนั้น ซึ่งรัฐบาลได้มีการผ่อนปรนอยู่แล้ว เพราะถ้าเกษตรกรไปปลูกในพื้นที่ต้องห้ามรัฐบาลได้ยึด ทำลาย ไปหมดแล้ว เหลือที่แต่อนุญาตให้ปลูก ดังนั้นควรจะให้เกษตรกรได้รับเงินเยียวยาโควิดด้วย ปัจจุบัน กยท.กำลังอยู่ในการปรับปรุงแก้ไขการขึ้นทะเบียน ต่อไปไม่ต้องมีสีแยกบัตรแล้วใช้สถานะเดียวกัน ซึ่งตรงนี้ต้องขอขอบพระคุณประธานบอร์ดที่ท่านเห็นปัญหาและตั้งคณะทำงานฯ เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาตรงนี้แล้ว
ด้านนายสุนทร รักษ์รงค์ บอร์ด กยท. และที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ในกลุ่มนี้ จะขึ้นข้อความว่า รอการตรวจสอบการขึ้นทะเบียน ไปล็อกในกลุ่ม2 ที่มีการปรับปรุงทะเบียนว่าเห็นควรให้เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเพิ่มเติมต้องดำเนินกิจกรรมในพื้นที่ที่ขอบโดยถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งในส่วนของชาวสวนยาง ได้ไปพูดในคณะกมธ.ด้วยว่า จำนวน 1.6 แสนราย ทีเป็นเกษตรกรไม่มีเอกสารสิทธิ์ ขึ้นบัญชีกรมส่งเสริมการเกษตร /อื่นๆ จำนวน 1.3 แสนราย ส่วนอีก 3 หมื่นราย บัญชี กยท. (เจ้าของสวน 2 หมื่นคน ส่วนอีก 1 หมื่นคน เป็นคนกรีดยาง) เพราะดังนั้นคนที่เดือดร้อนหนักกว่าก็คือ กรมส่งเสริมการเกษตร จะมีพืชตัวอื่นด้วยไม่ใช่ยางพาราที่เดือดร้อนถ้ารัฐบาลไม่จ่ายเงินเยียวยาโควิดในครั้งนี้
“ที่ประชุมใน คณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ ที่มีคุณกันตวรรณ ตันเถียร ประธานคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ กรณีข้าราชการ บำนาญ และประกันสังคม มติ ครม.ไม่ได้ ครอบครัวนี้จะไม่ได้รับการเยียวยาเกษตรกร เพราะฉะนั้นหากเป็นกรณีนี้ หัวหน้าครัวเรือนที่มี 3 ช่องนี้ ช่วยอนุโลม ให้สมาชิกเกษตรกรในครัวเรือนมารับแทนได้หรือไม่ เป็นข้อเสนอของคณะกรรมาธิการฯ เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.ที่ผ่านมา”
เช่นเดียวกับนายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กลุ่มนี้ความจริงต้องช่วยเพราะว่าเป็นกลุ่มที่ด้อยโอกาส เพราะหลักการในการช่วยโควิด ช่วยคนที่เดือดร้อนจะต้องไม่ซ้ำซ้อนการช่วยเหลือในโครงการอื่นๆ ของรัฐบาล