"CPTPP" เอ็นจีโอ โวยรัฐตั้งธงร่วมวง

14 มิ.ย. 2563 | 01:10 น.
อัปเดตล่าสุด :16 มิ.ย. 2563 | 10:43 น.

พาณิชย์-เอกชนลุ้นรัฐบาลตัดสินไทยควรเข้าร่วม "CPTPP" หรือไม่ หลังเขี่ยลูกตั้งกรรมาธิการวิสามัญฯ เอฟทีเอ ว็อทช์ ชี้ดูจากไทม์ไลน์ตั้งธงไว้แล้ว ไทยเตรียมเข้าเป็นสมาชิกแน่ หวัง กมธ.เปิดเผยผลสรุปโปร่งใสไม่หมกเม็ด

เป็นประเด็นร้อนขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากที่กระทรวงพาณิชย์ได้ถอนวาระการนำเสนอเรื่องความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก(CPTPP) เพื่อขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการขอเจรจาเข้าร่วมความตกลงเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2563 

หลังจากหลายภาคส่วนในสังคมยังมีความขัดแย้งและเห็นต่างถึงผลกระทบที่จะตามมา ถัดมาวันที่ 10 มิถุนายน 2563 คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.)ได้ออกมากระทุ้งรัฐบาลสนับสนุนให้ประเทศไทย เข้าร่วมเจรจากับกลุ่ม CPTPP เพื่อเริ่มนับหนึ่งในการยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงขอเจรจาเข้าร่วมอย่างเป็นทางการในเดือนสิงหาคมนี้ที่ CPTPP จะมีการประชุมระดับรัฐมนตรี และก่อนหน้านี้สมาชิก CPTPPได้แสดงความพร้อมที่จะเปิดรับสมาชิกใหม่

กกร.จี้รัฐเดินหน้านับ1 CPTPP

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กกร.สนับสนุนให้รัฐบาลควรเข้าไปร่วมเจรจา CPTPP เพื่อให้รู้เขารู้เราเท่านั้น แต่ยังไม่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก ซึ่งการเจรจาต่อรองในเรื่องต่าง ๆ ภายใต้ข้อตกลง CPTPP ที่มีผลบังคับใช้ไปแล้ว อาจใช้เวลา 3-4 ปี หากเห็นว่าไทยเสียมากกว่าได้ก็

สามารถอนตัวได้ แต่หากเห็นว่าได้มากกว่าเสียก็ต้องนำเรื่องกลับมาเสนอ ครม.ส่งเรื่องต่อรัฐสภาเพื่อให้ความเห็นชอบตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งขั้นตอนยังอยู่อีกยาวไกล ขณะที่ในขั้นตอนการรับสมาชิกใหม่ของ CPTPP ก็ยังไม่แน่ว่า 7 ประเทศ(จาก 11 ประเทศ)ที่ได้ให้สัตยาบันรับรอง CPTPP ให้มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2561 (ประกอบด้วยเม็กซิโก ญี่ปุ่น สิงคโปร์ นิวซีแลนด์ แคนาดา ออสเตรเลีย เวียดนาม อีก 4 ประเทศที่ยังไม่ให้สัตยาบันได้แก่ มาเลเซีย บรูไน ชิลี เปรู) จะพิจารณาอนุมัติให้ไทยเข้าร่วมหรือไม่ แต่ในเบื้องต้นไทยควรเริ่มต้นนับหนึ่งสำหรับ CPTPP ได้แล้ว

นายสนั่น อังอุบลกุล รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในการเจรจาเพื่อเข้าเป็นสมาชิก CPTPP ไทยสามารถต่อรองเพื่อกำหนดเงื่อนไข เพื่อขอความยืดหยุ่นในเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ และขอระยะเวลาการปรับตัวเพื่อลดผลกระทบได้ อย่างไรก็ดีเมื่อเร็วๆนี้ตนในฐานะคณะทำงานของ กกร.ได้เชิญ ผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และภาคส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับ CPTPP มาให้ข้อมูล ที่เป็นกังวลส่วนใหญ่เป็นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา เช่น การห้ามเกษตรกรเก็บเมล็ดพันธุ์พืชไปปลูกต่อ เรื่องการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา (CL) รวมถึงกังวลไทยไม่ยอมถอนตัวหากมีประเด็นที่อ่อนไหวมาก เป็นต้น


\"CPTPP\" เอ็นจีโอ โวยรัฐตั้งธงร่วมวง

 

ชี้รัฐตั้งธงร่วมแน่ CPTPP

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี(ไบโอไทย) และสมาชิกกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) กล่าวว่า จากที่กรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.)เพื่อพิจารณาศึกษาเรื่อง CPTPP ได้กำหนดกรอบเวลาพิจารณา 30 วัน ครบกำหนดในวันที่ 15 กรกฎาคมนี้ ก่อนสรุปข้อมูลผลการพิจารณาศึกษาซึ่งคงไม่ฟันธงว่าเห็นสมควรเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วม แต่คงให้ข้อเสนอแนะเพื่อนำเสนอเรื่องต่อสภาผู้แทนราษฎรรับรอง และคงมีการเปิดอภิปรายเพราะเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจ หลังจากนั้นคงนำเรื่องเสนอต่อครม.เพื่อตัดสินใจว่า จะอนุมัติให้ไทยไปแสดงเจตจำนงขอเจรจาเข้าร่วม CPTPP อย่างเป็นทางการในเดือนสิงหาคมนี้หรือไม่

“ดูจากไทม์ไลน์แล้วถือเป็นไปจังหวะที่รัฐบาลวางไว้ คือหลังจากรัฐมนตรีพาณิชย์ถอนวาระ CPTPP ไม่เสนอ ครม. ทีมเศรษฐกิจรัฐบาลก็ส่งลูกให้ กกร.มาขับเคลื่อนแทน กระทั่งมีการตั้งกรรมาธิการฯขึ้นมาพิจารณาศึกษาเรื่องนี้ ซึ่งด้านหนึ่งจะส่งผลดีเพราะภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะได้มาให้ความเห็นที่หลากหลาย รวมถึงจากคณะกรรมาธิการฯ 49 คนที่มาจากภาครัฐ จากพรรคการเมือง นักวิชาการและภาคประชาชนที่เข้ามาร่วมเป็นคณะทำงานจะแสดงความเห็นกันอย่างเต็มที่ เราหวังว่ากรรมาธิการฯจะเปิดเผยและเผยแพร่ข้อมูลผลการพิจารณาศึกษาอย่างโปร่งใส ซึ่งหากผลออกมามีผลกระทบคนส่วนใหญ่ของประเทศคือเกษตรกร มากกว่าผลประโยชน์ของภาคอุตสาหกรรมไม่กี่กลุ่ม รัฐต้องตอบให้ได้ว่าจะไปเข้าร่วมทำไม”

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3583 วันที่ 14-17 มิถุนายน 2563