นายบัณฑูร วงศ์สีลโชติ รองประธานคณะกรรมการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ปัจจุบันการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(FDI) นอกจากจะใช้เป็นฐานเพื่อผลิตสินค้าแล้วยังมองเรื่องตลาดเป็นเรื่องใหญ่ว่าเมื่อผลิตแล้วจะขายไปที่ใดได้บ้าง ซึ่งในแง่ตลาดเทียบระหว่างไทยกับเวียดนามแล้ว เวียดนามได้เปรียบไทย เพราะเวลานี้เวียดนามมีความตกลงเขตการค้าเสรี(เอฟทีเอ)กับประเทศต่าง ๆ มากกว่าไทยเกือบ 3 เท่าตัว (ไทยมีเอฟทีเอแล้วกับ 18 ประเทศ เวียดนามมีเอฟทีเอแล้วกับ 53 ประเทศ) ส่งผลให้สินค้าที่ผลิตจากเวียดนามได้เปรียบไทยในการส่งออกไปยังประเทศคู่เจรจาในอัตราภาษีนำเข้าที่ต่ำกว่าผลิตในไทย
ดังนั้นเป็นเหตุผลสำคัญที่ไทยควรพิจารณาร่วมเจรจาความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก(CPTPP)(ที่ปัจจุบันมีสมาชิก 11 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู เม็กซิโก ญี่ปุ่น บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม) เพราะประโยชน์ที่ได้จะมากกว่าส่วนที่เสียประโยชน์
ทั้งนี้เมื่อมีสถานการณ์โควิด-19 เชื่อว่าความสามารถในการบริโภคของไทยจะลดลงไปมาก ตลาดภายในจึงมีความสำคัญน้อยลงกว่าตลาดส่งออก แม้โควิด-19 จะมีผลทำให้มูลค่าการค้าโลกลดลงโดยรวม การลงทุนต่าง ๆ ล้วนต้องระงับไว้ก่อนชั่วคราว เพราะอนาคตไม่แน่นอนว่า โรคนี้จะควบคุมได้เมื่อไหร่ จะมีวัคซีนป้องกันหรือรักษาได้เมื่อใด การปิดตัวหรือลดการผลิตของโรงงานต่าง ๆ เป็นข้อเท็จจริงที่ตามมา ซึ่งหากมีภาคธุรกิจของไทย หรือต่างชาติย้ายจากไทยไปเวียดนาม ก็เป็นส่งที่เข้าใจได้ว่า ตลาดส่งออกกำลังกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด หากต้องการส่งออก การลงทุนในเวียดนามย่อมดีกว่าลงทุนในไทย และในปลายปีนี้หากโดนัลด์ ทรัมป์แพ้การเลือกตั้ง ไม่ได้เป็นผู้นำ คาดสหรัฐฯ จะกลับเข้ามาร่วม CPTPP ซึ่งจะทำให้เปลี่ยนเป็น TPP เหมือนเดิม การส่งออกไปสหรัฐฯ ย่อมทำได้ง่ายกว่าหากลงทุนในเวียดนาม
“ปัจจุบันความสามารถในการบริโภคสินค้าในประเทศก็เป็นเรื่องสำคัญ ในประเด็นนี้ไทยได้เปรียบเวียดนาม เพราะคนไทยมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวสูงกว่า แต่ปัจจัยนี้เวียดนามกำลังตามไทยมาอย่างรวดเร็ว ขณะที่ปัจจัยนี้ก็มีผลให้นักลงทุนต่างชาติหลาย ๆ รายไม่อยากย้ายฐานออกจากจีน เพราะคนจีนมีศักยภาพในการบริโภคสูงมากในขณะนี้”
อย่างไรก็ดี จากสงครามการค้า และความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯกับจีน มีผลให้ส่วนหนึ่งของนักลงทุนของจีนที่จะส่งออกไปสหรัฐฯ ได้มุ่งมาลงทุนในไทยและเวียดนาม โดยเปรียบเทียบแล้วในทางการเมืองเวียดนามน่าสนใจกว่าไทย เพราะเวียดนามทะเลาะกับจีนในหลาย ๆ เรื่องเช่นเรื่องสิทธิในหมู่เกาะสแปรตลีย์ที่จีนประกาศความเป็นเจ้าของ ประเด็นนี้ทำให้สหรัฐฯไม่ทำอะไรกับเวียดนามเพราะมองเวียดนามเป็นกำลังสนับสนุนสหรัฐฯ ในการสกัดกั้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน
ปัจจัยด้านแรงงานเป็นอีกเรื่องที่สำคัญ เปรียบเทียบแล้วคนเวียดนามในภาพรวมขยันกว่าคนไทย มีทักษะการทำงานสูง ขณะที่ค่าแรงไทยสูงกว่าเวียดนาม แต่ค่าแรงเวียดนามก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ไทยมักพึ่งแรงงานต่างด้าว แต่กฎหมายแรงงานไม่ให้จ้างแรงงานต่างด้าวถูกกว่าแรงงานไทย แม้ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการมักฝ่าฝืนก็ตาม
ด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน ไทยดีกว่าเวียดนาม การคมนาคมก็ดีกว่า พัฒนาการติดต่อสื่อสารได้ดีกว่า แต่อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทกับดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับเวียดนามด่องแล้ว นักลงทุนเห็นว่าเงินบาทแข็งค่าเกินกว่าปัจจัยพื้นฐาน หากมาลงทุนในไทยต้องใช้เงินมากกว่า และการส่งออกสินค้าก็ได้ผลตอบแทนต่ำกว่าการลงทุนในเวียดนาม
“นโยบายส่งเสริมการลงทุนของไทย และของเวียดนามต่างแข่งขันกัน สำหรับอีอีซี ไทยมีข้อเสนอเรื่องสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ดีกว่าที่เวียดนามเสนอ เป็นปัจจัยดึงดูดการลงทุนได้ดี และไทยยังมีการลงทุนด้านสาธารณูปโภคและการขนส่งทางรางที่ทันสมัย ให้สิทธิในการเป็นเจ้าของที่ดิน งดเว้นภาษีต่าง ๆ มากมาย แต่การที่บริษัทต่างชาติมาขอรับใบส่งเสริมการลงทุนไม่ได้หมายความว่าจะมาลงทุนจริง ๆ เพราะส่วนใหญ่มักขอจากเวียดนามด้วย ส่วนจะไปลงทุนจริงที่ใดย่อมต้องดูกันอีกทีในภายหลัง ทั้งนี้ในปี 2562 ไทยได้รับการลงทุน FDI คิดเป็นเงิน 6,315 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะนี่เวียดนามได้รับ 38,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯหรือมากกว่าไทย 6 เท่า”
ขณะที่ปัจจัยทางการเมืองไทยค่อนข้าง "เหยียบเรือสองแคม" ไม่โอนไปทางจีนหรือสหรัฐฯอย่างชัดเจน ทำให้สหรัฐฯมักทำโทษไทยในเรื่องภาษีนำเข้า ตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร(จีเอสพี) และจะมีเรื่องอื่น ๆ ตามมาอีก ดังนั้นไทยจึงพึ่งจีนในทางเศรษฐกิจมากกว่าสหรัฐฯ ทั้งในด้านการลงทุน และด้านการส่งออก นำเข้า มูลค่าการค้าโดยรวมของไทยกับสหรัฐฯ จึงสูงกว่าที่ทำกับสหรัฐฯมาก เทียบกันแล้วจีนสำคัญกับเศรษฐกิจไทยมากกว่าสหรัฐฯ