เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2563 มีการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) เป็นครั้งแรก ได้มีการลงมติเลือก นายวีระกร คำประกอบ เป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อพิจารณาศึกษาการเข้าร่วม CPTPP และมีการแต่งตั้งอนุกรรมาธิการขึ้นมาอีก 3 คณะ ได้แก่ 1.ศึกษาด้านเมล็ดพันธุ์ และการเกษตร 2.ศึกษาด้านสาธารณสุข และยา และ 3.ศึกษาด้านเศรษฐกิจการค้า และการลงทุน ล่าสุดมีความคืบหน้าตามลำดับ
นายวีระกร คำประกอบ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลง CPTPP เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากการที่รัฐบาลมอบหมายภารกิจสำคัญว่าจะเข้าร่วม CPTPP หรือไม่ อยู่ที่คณะกรรมาธิการคณะนี้ รัฐบาลให้เอกสิทธิ์เลยว่า ถ้าคณะนี้ว่าอย่างไร รัฐบาลจะว่าตามนั้น ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก ดังนั้นทุกคณะจะมีพิจารณาศึกษาอย่างละเอียด ถี่ถ้วนและรอบคอบ ไม่มีใครที่จะมาชี้นำได้ ทุกอย่างจะอยู่บนพื้นฐานเหตุและผล หากไทยเข้าร่วมจะมีข้อดีและข้อเสียอย่างไร เช่นเดียวกัน หากไม่เข้าจะมีข้อดีและข้อเสียอย่างไร
“รัฐบาลได้มอบหมายให้เราเป็นผู้ศึกษาพิจารณาเรื่อง CPTPP ถือเป็นเรื่องที่แปลก เพราะปกติรัฐบาลจะไม่มอบหมายอย่างนี้ อย่างมากก็แค่รับฟังความคิดเห็น แต่นี่เป็นการโยนให้คณะกรรมาธิการฯ ตัดสินใจ ถือเป็นเรื่องใหญ่”
ทั้งนี้กรอบระยะเวลาการทำงานต้องให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน แม้ว่าตามกำหนดการจะมีการประชุมกรรมาธิการฯคณะใหญ่ในทุกวันอังคารกับวันพฤหัสบดี แต่คณะอนุฯ ทำงานกันทุกวัน ไม่ใช่ทำงานเฉพาะวันที่ประชุม วันที่ไม่ได้ประชุมก็ได้รับการบ้านผ่านทางแอพพลิเคชั่นไลน์ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นอยากให้ประชาชนได้เข้าใจ และฝากความหวังได้อย่างเต็มที่เลย ถึงแม้จะมีเวลาทำงาน 30 วัน (ให้แล้วเสร็จภายใน 10 ก.ค.63) โดยไม่สามารถต่อระยะเวลา เนื่องจากหากคณะกรรมาธิการฯได้นำเสนอเรื่องต่อรัฐบาล ซึ่งหากได้ข้อสรุปและเห็นว่าไทยควรเข้าไปร่วมเจรจา และรัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรี(ครม.)ให้ความเห็นชอบ ขั้นตอนต่อไปไทยต้องไปยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงขอเจรจา CPTPP ต่อนิวซีแลนด์(ประเทศผู้รักษาสนธิสัญญา CPTPP)เพื่อขอเจรจาเข้าร่วมอย่างเป็นทางการ และหลังจากนั้นจะส่งเรื่องให้รัฐมนตรีการค้าของ CPTPP ที่จะมีการประชุมระดับรัฐมนตรีปีละ 1 ครั้ง ซึ่งปีนี้จะจัดในวันที่ 5 สิงหาคม 2563 เพื่อพิจารณาว่าเห็นควรให้เปิดการเจรจากับไทยหรือไม่ อย่างไร
“ข้อตกลง CPTPP มีถึง 30 ข้อบท รวมบัญชีแนบท้ายซึ่งมีความละเอียดมาก จำเป็นที่จะต้องใช้บุคลากรที่มีความสามารถเฉพาะด้านมาช่วยกันศึกษาพิจารณา”
นายชัยฤกษ์ สงวนทรัพยากร นายกสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย กล่าวว่า CPTPP มีหลายข้อบท ซึ่งเรื่องการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ เป็นแค่หนึ่งในข้อย่อยของข้อบทเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาเท่านั้น ซึ่งถ้าเราทำข้อตกลงกับใคร แล้วไม่ได้ทำอะไรเลย หรือนอนเฉย เราเสียประโยชน์ ก็คือให้เขามาขายอย่างเดียว แต่เราไม่ขายกลับไปเราก็เสียประโยชน์ แต่ถ้าเราทำข้อตกลงแล้ว ก็คือเขาขายเราได้ เขาก็ต้องขายเราได้ พอมาถึงจุดหนึ่งเรามีสิทธิ์ขายให้เขาได้ แต่เรามาถูกห้ามโน่นห้ามนี่ จะเป็นอย่างไร
“ถ้าหากมองมุมนี้ก็จะบอกว่าอย่าไปทำเลยขาดทุน ก็เพราะว่าเราไม่มีปัญญาไปขายของให้เขา แต่ถ้าอยากอาศัยสัตยาบันตัวนี้ก็ร่วมไปเปิดตลาดใหม่แต่ถ้าไม่อยากขายก็ไม่ต้องร่วม แต่ลืมไปหรือไม่ว่า ไทยเป็นผู้ผลิต ถามว่าเกษตรกรทำของไม่อยากขายหรือ ของยิ่งทำมากก็ต้องยิ่งขายมาก แล้วถ้าทุกคนทำมากแต่ไม่มีที่ขายก็จะทำกันทำไม ผมก็งง ต้องคิดดูให้ดี”
รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า เกษตรของไทยจะก้าวหน้าจะต้องไม่ปฏิเสธเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ต้องลงทุน และการลงทุนครั้งนี้ไม่ใช่เป็นการลงทุนโดยรัฐ จะเป็นการลงทุนโดยภาคเอกชนเป็นหลัก เพราะว่าบางเรื่องเป็นเรื่องผลประโยชน์ส่วนบุคคลมากกว่าผลประโยชน์ส่วนรวม พืชบางตัว ดอกไม้บางชนิด ไม่เหมือนพันธุ์ข้าวพันธุ์หนึ่งมีเกษตรกรเป็นล้านคนที่ได้รับผลประโยชน์ อย่างนี้รัฐจะลงทุน แต่ถ้าเป็นเกษตรกรบางคนหรือบางกลุ่มใช้ ถึงรัฐจะลงทุนก็ไม่มีขีดความสามารถ บริษัทเอกชนจึงรวมตัวกันหลายบริษัทเกิดกระแสการรวมตัวของบริษัทข้ามชาติ เพราะบริษัทเดียวความรู้ไม่ถึง เพราะฉะนั้นกระบวนการลงทุนแพงมาก เมื่อลงทุนแล้วเกษตรกรอยากใช้หรือไม่
“อย่างบางตัวก็เห็นชัดเกษตรกรไม่ใช้ เช่น พันธุ์ข้าวลูกผสมของซีพี ก็คิดค้นขึ้นมาแล้วก็ไม่ได้แปลว่าจะประสบความสำเร็จ นี่คือความเสี่ยง แต่ถ้าประสบความสำเร็จ เกษตรกรนำไปใช้ แล้วเกษตรรวยขึ้นผิดหรือไม่ ผลประโยชน์อื่นๆ ประเทศได้หรือไม่ หรือในอนุสัญญา UPOV 1991 จะทำให้บริษัทต่างชาติ บริษัทข้ามชาติ และบริษัทเอกชนของไทยที่มีความสามารถในการวิจัย ดัดแปลงพันธุ์เอาไปใช้ประโยชน์แล้วสังคมสูญเสีย ตรงนี้ตนไม่รู้ เป็นประเด็นที่ต้องศึกษากันว่าถูกเอาเปรียบหรือไม่ แต่ถ้าไม่ทำเราถอยเรายืนอยู่กับที่ ในขณะที่หลายประเทศเดินหน้าไปไกล ดังนั้นต้องนำมาพิจารณาในการตัดสินใจในครั้งนี้ให้รอบคอบ”
หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,584 วันที่ 18 - 20 มิถุนายน พ.ศ. 2563