นายวุฒิพงศ์ เนียมหอม รองเลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กล่าวว่า ส.ป.ก. ได้ดำเนินการตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.)ในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยมีมติในที่ประชุมคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) ออกมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน ซึ่งมีมาตรการ ดังนี้
มาตรการที่ 1 มาตรการลดภาระหนี้สินและมาตรการสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ โดยมาตรการสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำได้กำหนดวงเงินช่วยเหลือไว้ถึง 466 ล้านบาท ภายใต้แผนการใช้จ่ายเงินกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 โดยแบ่งเป็นเงินกู้ระยะสั้น 1 ปี วงเงินกู้ไม่เกิน 20,000 บาท กำหนดอัตราดอกเบี้ยที่ร้อยละ 0 ต่อปี และเงินกู้ระยะปานกลาง 3 ปี วงเงินกู้ตั้งแต่ 20,0001 - 50,000 บาท กำหนดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.50 ต่อปี ซึ่งหลังจากที่ ส.ป.ก. ได้ประชาสัมพันธ์มาตรการความช่วยเหลือออกไปพบว่า มีเกษตรกรให้ความสนใจยื่นคำขอเงินกู้ระยะปานกลางแล้วมากถึง 1,664 ราย ใน 22 จังหวัด วงเงินรวมกว่า 60 ล้านบาท และสำนักบริหารกองทุน ส.ป.ก.
ได้จัดสรรและโอนเงินให้ ส.ป.ก.จังหวัด เพื่อจ่ายเงินกู้ให้เกษตรกรเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินที่มีความประสงค์จะขอรับการช่วยเหลือจาก ส.ป.ก. ตามมาตรการดังกล่าวยังสามารถยื่นคำร้องขอได้ที่ ส.ป.ก.จังหวัดทุกแห่งจนถึงสิ้นเดือนกันยายนนี้
มาตรการที่ 2 การส่งเสริมสินค้าและผลิตภัณฑ์ของเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน ตามนโยบายช็อปสู้ COVID-19 กับสินค้าในเขตปฏิรูปที่ดิน ส.ป.ก. คือ การเพิ่มช่องการทางการจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ของเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน 72 จังหวัด โดยเพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้าออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ https://www.alro.go.th/coopshop/main.php?filename=index และ facebook fanpage : สินค้าเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดิน
มาตรการที่ 3 การเปิดตลาดนัดสินค้าเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดิน โดยรับซื้อสินค้าและเปิดจุดจำหน่ายสินค้าจากเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน ซึ่ง ส.ป.ก. สามารถช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรและกลุ่มเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 จำนวน 7 จังหวัด เป็นเงิน 743,051 บาท มีรายละเอียด ดังนี้
1) จังหวัดสุพรรณบุรี รับใบสั่งซื้อสินค้าพร้อมจัดส่งเมล่อนจากกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกเมล่อนบ้านหนองคาง อ.หนองหญ้าไซ จ.สุพรรณบุรี จำนวน 400 กิโลกรัม เป็นเงิน 22,680 บาท
2) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดจุดจำหน่ายเมล่อนของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเมล่อนหมู่ใหญ่ร่วมใจพัฒนา อ.ลาดบัวหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา ณ ส.ป.ก. ถนนราชดำเนินนอก และ ส.ป.ก. ถนนประดิพัทธ์ จำนวน 1,000 ลูก เป็นเงิน 95,800 บาท
3) จังหวัดสกลนคร โดยกลุ่มเกษตรกรวิสาหกิจชุมชนแปรรูปน้ำผลไม้พลังช้างสอง(โนนหัวช้าง) และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผ้าคราม เข้าร่วมโครงการ “ตลาด อ.ต.ก. ร่วมใจส่งเสริมผลไม้ไทย ต้านภัยโควิด-19” ระหว่างวันที่ 23 เมษายน – 31 พฤษภาคม 2563 ณ บริเวณตลาด อ.ต.ก. จตุจักร กรุงเทพฯ เป็นเงิน 425,700 บาท
4) จังหวัดนครราชสีมา รับใบสั่งซื้อสินค้าพร้อมจัดส่งมะม่วงมหาชนกและมะม่วงน้ำดอกไม้จากกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วง จ.นครราชสีมา จำนวน 4,036 กิโลกรัม เป็นเงิน 71,670 บาท
5) จังหวัดตาก รับใบสั่งซื้อสินค้าพร้อมจัดส่งส้มสายน้ำผึ้ง (จำนวน 500 กิโลกรัม เป็นเงิน 25,900 บาท) และ อโวกาโด้ (จำนวน 276 กิโลกรัม เป็นเงิน 16,925 บาท) รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 42,825 บาท
6) จังหวัดลำพูน จัดกิจกรรมปันยิ้มให้เกษตรกรและน้องช้าง (ยอดเงินช่วยเหลือเพื่อซื้อมะม่วงจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนพัฒนาผลิตภัณฑ์พืชผักสมุนไพรและผลไม้ จ.ลำพูน จำนวน 24,776 บาท และบริจาคให้กับโรงพยาบาลช้าง จ.ลำปาง เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2563)
7) จังหวัดชลบุรี เปิดจุดจำหน่วยเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ของวิสาหกิจชุมชนบ้านเนินดินแดง ณ ส.ป.ก. ถนนราชดำเนินนอก และ ส.ป.ก. ถนนประดิพัทธ์ จำนวน 150 กิโลกรัม เป็นเงิน 59,600 บาท