การขาดแคลนเมล็ดพันธุ์คุณภาพดีเป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ของชาวนา โดยในแต่ละปีไทยมีความต้องการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวประมาณ 1 ล้านตัน ขณะที่ภาครัฐโดยกรมการการข้าว และศูนย์ข้าวชุมชนสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีได้ประมาณ 1.35 แสนตันต่อปีเท่านั้น ไม่เพียงพอต่อความต้องการ (กราฟิกประกอบ) แต่ที่ผ่านมาการผลิตข้าวของไทยยังดำเนินอยู่ได้จากบางส่วนชาวนาเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวที่เก็บเกี่ยวแล้วไว้ใช้เอง และในท้องตลาดยังมีเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ผลิตโดยผู้ประกอบการในนามสมาคมผู้รวบรวมและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว ซึ่งมีสมาชิกกว่า 200 ราย กระจายทั่วประเทศ ซึ่งเกษตรกรสามารถซื้อหาได้
นายสุเทพ คงมาก กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปีนี้สถานการณ์ขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ข้าวรุนแรงกว่าทุกปีที่ผ่านมา เนื่องจากการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมาย ผลจากช่วงที่ผ่านมาแปลงปลูกเมล็ดพันธุ์หลายพื้นที่ประสบภาวะภัยแล้งน้ำในเขื่อนมีไม่เพียงพอในการทำนา บางพื้นที่น้ำท่วม ขณะที่ความต้องการเมล็ดพันธุ์ข้าวของชาวนามีมากขึ้นจากรัฐมีโครงการประกันรายได้ และจะช่วยค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว และเงินทุนช่วยการผลิต ไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ สูงสุดครัวเรือนละ 2 หมื่นบาท
สุเทพ คงมาก
ปัจจุบันมีชาวนากว่า 4 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ ดังนั้นใครก็ต้องการที่จะปลูกขอให้พ้น 15 วันก็สามารถที่จะแจ้งการเพาะปลูกกับกรมส่งเสริมการเกษตรเพื่อเข้าโครงการประกันรายได้ส่วนข้าวจะรอดพ้นภัยธรรมชาติหรือไม่ บางทีชาวนาก็ไม่ได้สนใจ ขอให้ปลูกไปก่อน
เกษม ผลจันทร์
ด้านนายเกษม ผลจันทร์ นายกสมาคมผู้รวบรวมและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว เผยว่า จากความต้องการเมล็ดพันธุ์ข้าวของชาวนาที่มีมาก มีผู้ประกอบการบางรายไปกว้านซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวจากแปลงนาของเกษตรกรเพื่อนำไปผลิตเป็นเมล็ดพันธุ์จำหน่าย โดยอ้างเป็นเมล็ดพันธุ์จากผู้ประกอบการซึ่งถือเป็นการกระทำความผิด และมีโทษตามกฎหมาย โดยราคาที่ไปรับซื้อถึงแปลงนาให้ราคาข้าวเปลือกเกี่ยวสดที่ 9,000 บาทต่อตัน เมื่อนำไปผลิตเมล็ดพันธุ์ขายที่ 2.1-2.3 หมื่นบาทต่อตัน หากชาวนาหลงซื้อไปปลูก ข้าวที่ได้ส่วนใหญ่จะเป็นข้าวดีด เมล็ดข้าวไม่ได้เต็มหน่วย ทำให้ขายข้าวขาดทุน ผลกรรมตกกับชาวนา
“สมาคมได้เรียกสมาชิกรายหนึ่งมาพูดคุย ปรากฏว่าแปลงนี้ไม่ผ่านมาตรฐานจริง แต่ยังไม่บรรจุถุงขาย ถือว่ายังไม่มีความผิด ทางสมาคมจึงมี 3 มาตรการออกมาคือ 1.ตักเตือนด้วยวาจา และออกหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อให้เซ็นรับทราบ 2. ในกรณีหากทำผิดซํ้าเดิมอีก ทางสมาคมฯจะแจ้งให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบเพื่อทำการตรวจสอบในเรื่องมาตรฐานเมล็ดพันธุ์ข้าว 3.ดำเนินคดี ตามระเบียบข้อบังคับเมล็ดพันธุ์โดยทุกมาตรการจะต้องเป็นมาตรฐานเดียวกัน ไม่มีข้อยกเว้น”
ณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์
ด้านนายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ ผู้อำนวยการกองเมล็ดพันธุ์ข้าว กรมการข้าวว เผยว่า ได้สั่งการให้สารวัตรข้าวลงไปตรวจสอบในพื้นที่จังหวัดใหญ่ที่มีการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวจำหน่าย ได้แก่ นครสวรรค์ พิษณุโลก ชัยนาท สิงห์บุรี ราชบุรี กาญจนบุรี สุโขทัย และกำแพงเพชร เป็นต้น ควบคู่กับหนังสือสั่งการถึง 29 ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวห้ามรับเมล็ดพันธุ์นอกพื้นที่ที่ไม่รู้ที่มาที่ไปมาให้รับจ้างผลิต เกรงจะมีส่วนสนับสนุนการทำผิดกฎหมาย รวมทั้งขอความร่วมมือผู้นำชุมชน และสมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ช่วยกันตรวจสอบและแจ้งเบาะแสเพื่อปกป้องเกษตรกรไม่ให้ถูกเอาเปรียบจากกลโกงของพ่อค้า
หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,591 วันที่ 12 - 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2563