วิพากษ์ “พืชสมุนไพร”ใช้แทน“พาราควอต -คลอร์ไพริฟอส”

12 ก.ค. 2563 | 21:00 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ก.ค. 2563 | 12:12 น.

จับตา “มนัญญา” ปล่อยผีพืชสมุนไพร 13 ชนิด หวังเป็นทางเลือกสารทดแทน “พาราควอต -คลอร์ไพริฟอส” นายกสมาคมวัชพืช ชี้วิบากเกษตรกรตกเป็นเหยื่อ ต้นทุนสูง เสี่ยงไม่ได้ผล ผวาอันตรายยิ่งกว่าเพราะคิดว่าปลอดภัย

วันที่ 13 กรกฎาคมนี้ เวลา 10.00 น.  นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะประธานการประชุมการกำหนดพืชสมุนไพร 13 ชนิด บรรจุเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 เพื่อหวังให้เป็นทางเลือกเกษตรกรใช้เป็นสารทดแทน “พาราควอต -คลอร์ไพริฟอส” ที่ประกาศแบนไปเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ที่ผ่านมานั้น

 

วิพากษ์ “พืชสมุนไพร”ใช้แทน“พาราควอต -คลอร์ไพริฟอส”

ดร.จรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” คาดการณ์ว่าพืชสมุนไพรที่กรมวิชาการเกษตรจะบรรจุเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 จำนวนที่มี 13 ชนิด  ได้แก่ สะเดา, ตระไคร้หอม, ขมิ้นชัน, ชิงข่า, ดาวเรือง, สาบเสือ, กากเมล็ดชา,พริก, คื่นช่าย, ชุมเห็ดเทศ,ดองดึง และ หนอนตายหยาก ซึ่งชาวบ้านก็ทำใช้กันอยู่แล้ว จะมาขึ้นทะเบียนทำไม แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าจะไม่ปนสารเคมี แล้วจะยิ่งอันตรายกว่า เพราะเกษตรกรใช้แล้วคิดว่าปลอดภัยจึงไม่ได้ระมัดระวัง

 

“จากการพิจารณาพืชสมุนไพร ที่พอใช้ได้ ก็มีแค่ "สะเดา" ขณะที่  “ใบยาสูบ” ยังมีประสิทธิภาพในการกำจัดแมลงยังดีกว่า ส่วนฆ่าวัชพืช ได้อยู่ 1 ตัว ก็คือ “สาบเสือ” เป็นงานวิจัยที่ยังอยู่ในห้องทดลอง แต่ก็พยายามดันให้เป็นงานวิจัยดีเด่นเมื่อ 2 ปีที่แล้ว แต่ว่าทำได้จริง จะไปหา “สาบเสือ” ที่ไหนมา เพราะเป็นวัชพืช เช่นเดียวกัน งานวิจัยยังคลุมเครือ เพราะแค่นำใบสาบเสือมาบด ใส่ตัวเมททานอล เป็นสารสกัด  นำไปทดสอบกับเมล็ดวัชพืชจะงอก สามารถยับยั้งได้หรือไม่ ยังไม่ได้ไปลงในกระถางทดสอบจริงเลย ยังเป็นสิ่งที่คนในวงการตั้งข้อสงสัยและกังขากันอยู่”

วิพากษ์ “พืชสมุนไพร”ใช้แทน“พาราควอต -คลอร์ไพริฟอส”

ดร.จรรยา กล่าวอีกว่า เกษตรกรทราบดีกันอยู่แล้ว “สะเดา” ฤทธิ์ก็ไม่ค่อยได้ผล ซึ่งสารอะซาไดแรคติน (azadirachtin) ใช้ทําเป็นสารฆ่าแมลงแต่จะได้หนอนแค่บางชนิด ไม่สามารถกำจัดแมลงได้ทุกอย่าง  ก่อนหน้านี้เคยมีแนวความคิดที่จะจัดระเบียบ แต่กลุ่มผู้ขาย-ผู้ผลิต ก็ไม่อยากขึ้นทะเบียน

 

ส่วน "กากชา" ก็สกัดนำน้ำมันออก พอสกัดออกไปแล้ว หากเทคโนโลยีดีมาก ส่วนที่เหลือของกากชา อาจจะทำให้ฤทธิ์ที่อยู่ในกากชาอาจจะเหลือน้อย เมื่อเกษตรกรนำมาใช้ฉีดพ่นแล้วอาจจะไม่ได้ผล ที่สำคัญในท้องตลาดมีมาก ยี่ห้อไหนดี มองดูแล้ว “เกษตรกร” เสียเปรียบ แล้วถ้ากรมปล่อยผี หวั่นเข้าทางพ่อค้าอัพราคาขาย ทั้งที่ไม่ทราบสรรพคุณว่าใช้ได้ผล จริงหรือไม่ 

วิพากษ์ “พืชสมุนไพร”ใช้แทน“พาราควอต -คลอร์ไพริฟอส”

เมื่อพิจารณาพืชสมุนไพรตัวอื่น ที่ใกล้ตัวที่สุด อย่าง "ขิงข่า" , "ดาวเรือง" จะปลูกเพื่อมาใช้พ่นฉีดฆ่าโรคแมลงหรือ ซึ่งเป็นงานวิจัยนานมาก แล้วจะต้องใช้ปริมาณเท่าไร แล้วขิงข่าที่ปลูกไม่ใช่ราคาถูก แล้วการที่จะมาใช้ก็จะต้องใช้จำนวนมาก คุ้มหรือไม่ กับต้นทุน แล้วไม่ทราบว่าจะได้ผลหรือไม่

 

ยกตัวอย่าง กรณีที่เห็นชัดที่สุดก็คือ “สาบเสือ” ที่จะใช้กำจัดวัชพืช  จากการคำนวณในพื้นที่เกษตรของประเทศไทยมีทั้งหมด 148 ล้านไร่  จะเอาพื้นที่ไหนปลูกสาบเสือเคยมีงานทดลองแบบนี้ “ผักปอดนา” เป็นวัชพืชกำจัดในนาข้าวได้ พอมาทำจริง ต้องมาปลูกผักปอดนา 1 ไร่ เพื่อกำจัดวัขพืชได้ 1 ไร่ แล้วต้องปลูกสาบเสือกี่ล้านไร่เพื่อจะกำจัดวัชพืช แล้วขั้นตอนในการนำมาใช้อีก ยุ่งยาก ถามว่าคุ้มค่าหรือไม่

วิพากษ์ “พืชสมุนไพร”ใช้แทน“พาราควอต -คลอร์ไพริฟอส”

เช่นเดียวกันหากเป็นอย่างนี้ในอนาคตจะต้องเสียพื้นที่ไปครึ่งประเทศเพื่อที่จะปลูกพืชสมุนไพรพวกนี้ในการกำจัดวัชพืชและกำจัดโรคแมลงในอนาคต ความคุ้มค่า เกษตรกรใช้ได้ผลจริงหรือไม่ ใช้ปริมาณเท่าไรจะได้ผลจริง อย่างขมิ้นชัน ปลูกที่ไหน ถึงจะเหมาะสม ไม่ใช่ทุกที่จะปลูกแล้วคุณภาพจะดี ทราบหรือไม่ ตอนนี้เราเหมือนย้อนยุคกลับไป "ยุคถ้ำ" ที่ยังไม่มีสารเคมีให้ใช้ หรือเห็นภาพชัดก็คือกลับไปอยู่ในยุคที่เรารับประทานยาหม้อ ในเวลาเจ็บป่วย อารมณ์นั้นเลย

 

อย่างไรก็ตาม "ฐานเศรษฐกิจ" จะติดตามผลการประชุมว่า พืชสมุนไพร 13 ชนิด ที่จะขึ้นทะเบียนบรรจุเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่1 มีอะไรบ้าง เกษตรกรยอมรับหรือไม่ ปัจจุบันมีผู้ค้ากี่รายที่อยู่ในตลาดนี้ มีความพร้อมในการแข่งขันกับตลาดสารเคมีหรือไม่ ต้องติดตามตอนต่อไป