วันที่ 13 กรกฎาคม 2563 นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมการกำหนดพืชสมุนไพร 13 ชนิด เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 ว่าได้ มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรรายงานความคืบหน้าการปลดล็อคบัญชีพืชสมุนไพรจากการเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 ให้เป็นชนิดที่ 1 ทั้งนี้เพื่อให้เกษตรกร และชุมชนสามารถนำพืชสมุนไพร 13 ชนิด ได้แก่ สะเดา ชา/กากเมล็ดชา ข่า ขิง ขมิ้นชัน ตะไคร้หอม สาบเสือ ดาวเรือง พริก ขึ้นฉ่าย ชุมเห็ดเทศ ดองดึง และหนอนตายยาก มาสกัดเป็นสารสกัดธรรมชาติเพื่อใช้ป้องกันกำจัดแมลง วัชพืช และโรคพืช ตลอดจนศัตรูพืชได้ด้วยตนเอง และได้มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรทำการจัดทำข้อมูลเพื่อยกร่างเสนอคณะกรรมการวัตถุอันตรายให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
ด้านนางสาวอิงอร ปัญญากิจ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า วัตถุอันตรายชนิดที่ 1 จะมีความเป็นอันตราย หรือความเป็นพิษน้อยกว่าชนิดที่ 2 และมีขั้นตอนการควบคุมแตกต่างกัน และในกรณีของวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ครอบครองที่จะมีไว้ใช้ จะต้องทำการขึ้นทะเบียน และแจ้งการดำเนินงานกับกรมวิชาการเกษตร ส่วนวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 ไม่ต้องขึ้นทะเบียน แค่มา "แจ้งข้อเท็จจริง" เกี่ยวกับ "สาร" หรือ "พืช" นั้น
“การขึ้นทะเบียนจะมีขั้นตอนยุ่งยาก ต้องนำผลิตภัณฑ์ไปวิเคราะห์ข้อมูลความเป็นพิษของสารนั้น ต้องนำสารนั้นไปทดสอบประสิทธิภาพการใช้เพื่อให้ทราบว่าจะใช้อัตราที่เท่าไหร่ถึงจะมีประสิทธิภาพตามที่กล่าวอ้างจริง นอกจากนั้นจะต้องทำการประเมินความเสี่ยง ความปลอดภัยของคน สัตว์ สิ่งแวดล้อม เพราะฉะนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรได้นำสารธรรมชาติ หรือพืชที่อยู่ตามธรรมชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการควบคุมศัตรูพืช กระทรวงเกษตรฯ เห็นว่าควรปลดล็อคพืชสมุนไพร 13 ชนิด จากวัตุอันตรายชนิดที่ 2 กลับมาเป็นวัตุอันตรายชนิดที่ 1"
อนึ่งจากการขึ้นทะเบียนของกรมวิชาการเกษตร พบว่า สารธรรมชาติ จะแยกออกเป็น 2 ส่วนหลัก คือ สารสกัดธรรมชาติจากพืชได้จากการสกัดจริง และสารธรรมชาติจากพืชที่ไม่ผ่านการสกัด ซึ่งไม่สามารถทำการปลดล็อคสารธรรมชาติจากการสกัดออกเป็นวัตถุอันตรายชนิดที 1 ได้ เนื่องจากเมื่อทำการสกัดแล้วจะได้สารสำคัญหรือสารออกฤทธิ์ในการกำจัดศัตรูพืช เพียว 100% ใช้เพียงนิดเดียวก็มีความเป็นพิษ และมีความเป็นพิษมาก
แต่ถ้าเป็นสารธรรมชาติจากพืชที่ไม่ผ่านการสกัด เช่น การนำไปตากแห้ง บ่ม สับ แล้วนำมาใช้เลย ไม่จำเป็นต้องขึ้นทะเบียน ไม่ต้องแจ้งว่ามีสารสำคัญในปริมาณเท่าไหร่ หรือใช้ในอัตราเท่าไหร่ ก็จะสะดวกกับเกษตรกรที่จะนำไปใช้หรือนำไปผลิตเพื่อจำหน่าย
"พืชสมุนไพรทั้ง 13 ชนิด เป็นพืชที่เกษตรกรได้นำมาใช้ประโยชน์เพื่อเป็นสารควบคุมแมลงเพื่อทดแทนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมานาน เนื่องจากไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเลย ถึงมีก็น้อยมาก ไม่ก่อให้เกิดผลตกค้างที่เป็นอันตรายต่อทั้งเกษตรกรเองและผู้บริโภค สามารถหาได้เองจากในชุมชนหรือจากเพื่อนบ้านใกล้เคียง" นางสาวมนัญญา กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม พ.ศ. 2552 ให้ ผลิตภัณฑ์จากชิ้นส่วนพืชซึ่งไม่ผ่านกรรมวิธีที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีเฉพาะที่นำไปใช้ป้องกัน กำจัด ทำลาย ควบคุม แมลง วัชพืช โรคพืช ศัตรูพืช หรือควบคุมการเจริญเติบโตของพืช ได้แก่ สะเดา ชา/กากเมล็ดชา ข่า ขิง ขมิ้นชัน ตะไคร้หอม สาบเสือ ดาวเรือง พริก ขึ้นฉ่าย ชุมเห็ดเทศ ดองดึง และหนอนตายยาก เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 1
หลังมีประกาศฉบับนี้ได้ถูกภาคประชาชนร้องเรียนให้กระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณายกเลิกให้ถอดพืชสมุนไพรข้างต้นออกจากการเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 และประกาศฉบับนี้ได้ยกเลิกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม พ.ศ. 2538 ที่ประกาศให้ สารสกัดจากพืช เช่น สะเดา ข่า ตะไคร้หอม เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 ให้ประกาศเป็น วัตถุอันตรายชนิดที่ 1 แทน ต่อมา ได้มีประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม พ.ศ. 2556 ให้สารสกัดจากพืช เช่น สะเดา ข่า ตะไคร้หอม ฯลฯ เพื่อประโยชน์ในการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 อีกครั้ง ล่าสุด กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความเห็นว่า ควรจะปรับใหม่ให้เป็น "วัตถุอันตรายชนิดที่1" แทน