นายบรรจบ สุขชาวไทย นักวิชาการด้านปศุสัตว์ ได้เขียนบทความ “สินค้าปศุสัตว์ เรือธงนำเศรษฐกิจไทยหลังโควิด” ความว่า การที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ปรับลดการคาดการณ์เศรษฐกิจไทย (จีดีพี)ปี 2563 ติดลบ 8.1% ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์และหนักหนากว่าวิกฤติต้มยำกุ้ง รวมถึงคาดการณ์ผู้ว่างงานในภาคอุตสาหกรรม 8 ล้านคน ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เป็นภาพสะท้อนผลกระทบอย่างชัดเจนจากวิกฤติโควิด-19
วันนี้เห็นเพียงโอกาสเดียวเท่านั้น คือการเร่งผลักดันการส่งออกสินค้าเพื่อนำเงินตราเข้าประเทศ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรปศุสัตว์ที่มีศักยภาพและสามารถเป็นเรือธงนำเศรษฐกิจไทยหลังโควิดได้ไม่ยาก จากปัจจัยสนับสนุนทั้งเรื่องมาตรฐานการป้องกันโควิดที่ไทยแสดงให้ทั่วโลกเห็นแล้วว่า เป็นแนวหน้าในเรื่องนี้
ขณะเดียวกันสินค้าเกษตรของไทยได้รับการยอมรับในด้านมาตรฐานการผลิต โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกร(หมู) ที่พิสูจน์ถึงความสามารถและศักยภาพในการยกระดับมาตรฐานการเลี้ยงและการป้องกันโรค จนทำให้ไทยกลายเป็นประเทศเดียวที่ “ปลอดจาก ASF” โรคที่สร้างความเสียหายให้กับอุตสาหกรรมหมูทุกประเทศในภูมิภาค และวันนี้ก็ยังต้องเผชิญกับปัญหานี้กันถ้วนหน้า ทั้งจีน เวียดนาม เมียนมา
แต่ไทยกลับประสบความสำเร็จในการสร้างปราการป้องกันโรคนี้ จนทำให้หมูไทย ได้ชื่อว่าเป็นหมูที่มีคุณภาพ มีมาตรฐาน และปลอดโรค ทั้งหมดนี้ต้องยกเครดิตให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงทั้ง 2 แสนราย ที่พร้อมใจกันดำเนินทุกมาตรการเฝ้าระวัง ควบคุม และป้องกันโรค เพื่อคงสถานะปลอด ASF ไว้ ไม่เพียงแค่ปกป้องอาชีพเลี้ยงหมูของพวกเขาเท่านั้น แต่ยังเป็นการปกป้องผู้บริโภคไม่ให้ได้รับความเดือดร้อน เหมือนอย่างที่ทุกประเทศในภูมิภาคกำลังเผชิญอยู่ จากภาวะขาดแคลนหมูเพราะพิษของโรคนี้ จนราคาหมูปรับสูงขึ้นหลายเท่าตัว
อย่างในจีนที่ราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มปรับขึ้นไปถึง 141 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) เวียดนาม 109 บาท กัมพูชาราคา 97 บาท ขณะที่ราคาหมูไทยยังอยู่ที่ 78-79 บาทต่อ กก. เรียกได้ว่า “หมูไทยราคาถูกที่สุดในภูมิภาค” ทั้งที่มีมาตรฐานการผลิตอยู่ระดับแถวหน้า และต้องทุ่มเทกับป้องกันโรคอย่างสุดกำลัง แม้รู้ทั้งรู้ว่าเป็นเม็ดเงินที่ต้องจ่ายเพี่ม เป็นต้นทุนที่ต้องแบกรับ แต่เกษตรกรทุกคนก็ยอมขอเพียงป้องกันโรคนี้ให้ได้
จึงไม่น่าแปลกใจที่หมูไทยจะกลายเป็นที่ต้องการของหลายประเทศ ทั้งจีน เวียดนาม สิงโปร์ รวมถึงฮ่องกงที่ระงับการนำเข้าหมูเป็นจากจีน ทำให้ต้องหันมาพึ่งพาการนำเข้าจากประเทศอื่น ๆ แทน โดยเฉพาะหมูคุณภาพของไทย นี่จึงเป็น "โอกาสที่แท้จริง" ของอุตสาหกรรมหมูไทย เป็นโอกาสที่แทบไม่เคยมีมาก่อน เพราะก่อนนี้การจะส่งออกหมูได้ต้องผ่านด่านเรื่องโรคในหมูซึ่งถือเป็นอุปสรรคสำคัญ
ต้องยอมรับว่าสินค้าปศุสัตว์ ถือเป็นความหวังหลังวิกฤติโควิด และยังคงเห็นโอกาสในสินค้าเกษตรที่ยังเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคทั่วโลก ตราบใดที่คนยังต้องบริโภค อย่างหมูที่ควรสนับสนุนให้เป็นสินค้าเพื่อกอบกู้เศรษฐกิจไทย เพราะไม่เพียงแค่ช่วยคลายทุกข์ให้คนเลี้ยงหมูจากที่ต้องรับภาระขาดทุนมากว่า 3 ปีเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อเนื่องไปตลอดทั้งห่วงโซ่จนถึงเกษตรผู้เพาะปลูกพืชอาหารสัตว์ที่เป็นวัตถุดิบภายในประเทศ ทั้งคนปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ชาวนาที่จะได้ขายรำข้าว-ปลายข้าว ชาวไร่ผู้ปลูกมันสำปะหลัง ที่จะสามารถขายผลผลิตได้มากขึ้น ขายได้ราคาสูงขึ้น ได้ลืมตาอ้าปากได้อีกครั้ง
วันนี้ผลตอบแทนสำหรับความมุ่งมั่นของคนเลี้ยงหมู จึงไม่ควรเป็นการถูกดึงเข้าดราม่า เรื่องเนื้อหมูราคาแพง ที่ทั้งผู้บริโภค คนขายหมูเขียง หรือแม้แต่คนค้าคนขายด้วยกันเอง พาทัวร์มาลงรุมชี้ว่าเกษตรกรเป็นต้นเหตุ ทั้ง ๆ ที่เกษตรกรยังยึดราคาขายหมูเป็นไม่ให้เกิน 80 บาทต่อกิโลกรัม ตามที่ตกลงไว้กับกรมการค้าภายใน เพื่อไม่ให้หมูหน้าเขียงขายเกิน 160 บาท เพราะไม่อยากให้คนซื้อต้องแบกรับภาระค่าครองชีพซ้ำเติม
และแม้วันนี้ราคาจะปรับขึ้นก็เป็นเพียงช่วงสั้นๆ ตามกลไกตลาด จากดีมานด์ที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก สวนทางกับซัพพลายหมูที่ลดลงจากภาวะโรค ที่สำคัญหมูไทยไม่ได้ราคาสูงไปกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค และปริมาณหมูก็มีมากเพียงพอกับการบริโภค ไม่เคยต้องขาดแคลน ทั้งหมดนี้เพราะคนเลี้ยงหมูทุกคนต้องการรักษาอาชีพเดียวของพวกเขาไว้ และต้องดูแลผู้บริโภคไม่ให้เดือดร้อนไปพร้อม ๆ กัน
อนึ่ง กรมการค้าภายใน รายงานราคาขายปลีกเนื้อสุกรชำแหละเนื้อแดง(สะโพก) ในตลาดกทม. ณ วันที่ 14 กรกฎาคม 2563 อยู่ที่ 155-160 บาทต่อ กก. เทียบกับวันที่ 13 กรกฎาคมอยู่ที่ 150-155 บาทต่อกก. หรือปรับตัวสูงขึ้น 5 บาทต่อ กก. เนื้อแดง(ไหล่) อยู่ที่ 155-160 บาทต่อ กก. จากวันที่ 13 กรกฎาคมอยู่ที่ 150-155 บาทต่อกก. หรือสูงขึ้น 5 บาทต่อ กก. และเนื้อสามชั้น อยู่ที่ 170-175 บาทต่อ กก. จากวันที่ 13 กรกฎาคมอยู่ที่ 165-170 บาท ต่อ กก. สูงขึ้น 5 บาทต่อ กก.
ระบุเหตุผลเนื้อสุกรชำแหละที่ราคาจำหน่ายปรับตัวสูงขึ้นมาจากหลายปัจจัยได้แก่ ความต้องการบริโภคในประเทศเพิ่มขึ้น อีกทั้งโรงเรียนเปิดภาคเรียนมีความต้องการบริโภคเพิ่ม และผู้ประกอบการร้านอาหารเริ่มกลับมาเปิดดำเนินการได้ตามปกติ ประกอบกับความต้องการสุกรมีชีวิตของประเทศเพื่อนบ้านยังมีความต้องการสูง และไทยสามารถส่งออกได้ต่อเนื่อง