จากกรณีที่ นายสุดสาคร ภัทรกุลนิษฐ์ อธิบดีกรมการข้าว ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการพิจารณารับรองพันธุ์ข้าว ครั้งที่ 1/2563 (15 ก.ค.63) ประกอบด้วยกรรมการจากหลายส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ สมาคมโรงสีข้าวไทย สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย สมาคมค้าข้าวไทย เป็นต้น โดยกรมการข้าวได้เสนอรับรองพันธุ์ข้าว จำนวน 3 สายพันธุ์ แต่ได้รับรอง 2 สายพันธุ์ ได้แก่ 1. PSL07023-CNT-18-2-1-3 หรือ “กข85” และ 2. CNTC04001-4 หรือ “ข้าวขาวเจ๊กชัยนาท4” แต่ในพันธุ์ข้าวที่ 3 PTT03019-18-2-7-4 หรือคนในวงการข้าวจะรู้จักในชื่อของ “เบอร์4” ชื่อที่เป็นทางการก็คือ “กข87” "เห็นควรรับรองพันธุ์ แต่ให้สงวนสิทธิ์ตรวจสอบข้อเท็จจริงตามข้อร้องเรียนก่อน" เป็นข้อร้องเรียนมาจากสำนักงานนายกรัฐมนตรี (อธิบดีกรมการข้าวแจ้งในที่ประชุมโดยไม่เห็นเอกสารการร้องคัดค้าน) ง่ายๆ ก็คือ ยังไม่รับรองพันธุ์ นั่นเอง
นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ผมถามว่าใครเป็นไปร้องเรียน หรือคัดค้าน ไม่ให้รับรองพันธุ์ข้าวเบอร์4 หรือ “กขค87” ทำไม สิ่งที่ดีดีที่เป็นประโยชน์กับชาวนาถึงไม่เอา เพราะผลผลิตพันธุ์ข้าวชนิดนี้ที่ได้มากถึงพันตัน ซึ่งเป็นข้อดีอยู่แล้ว ผมอยากรู้ใครที่เป็นคนร้องเรียน ทำไมไม่เปิดเผยตัวออกมา อย่าซ่อนแอบ แล้วที่ร้องเพื่อประโยชน์อะไร เสียผลประโยชน์หรือได้ผลประโยชน์อะไร ต้องการอะไร หรือต้องการปิดกั้นอะไรต้องว่ากันแบบตรงไปตรงมา แล้ว ทาง สำนักนายกรัฐมนตรีทำไมต้องไปฟัง ทำไมไม่ฟังชาวนาไปฟังพวกนักธุรกิจ หรือพวกที่มีอาชีพ มองดูแล้วมีผลประโยชน์
“การรับรอง แบบไม่เต็มใจรับรอง เพราะอะไรมีอะไร หมกเม็ดหรือไม่ ผมไม่สบายใจเลย ดังนั้นอยากให้กรมการข้าวเปิดเผยว่าที่ร้องเรียนมานั้นมีเหตุผลอะไร เรียกว่าของดีดีที่ศึกษาวิจัยมาเป็น 10 ปี เพื่อมาให้เกษตรกรปลูก ทำไมจะต้องมาขัดแข้งขัดขากันเพื่ออะไร มีผลประโยชน์อะไรหรือไม่ เพราะข้าวพันธุ์นี้ ผมเห็นว่ามีข้อดี เรียกว่าทั้งสมาคมคลางแคลงใจหมด รวมทั้งสมาคมโรงสีข้าวไทย สมาคมส่งออกข้าวไทย สมาคมการค้าข้าวไทย ในที่ประชุมทำไมไม่เปิดเผยออกมา ทำในลักษณะแบบนี้ผมบอกเลยว่า ชาวนาไม่มีความสุข”
สอดคล้องกับนายสุเทพ คงมาก กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ว่า มีอะไรกับข้าวเบอร์4 หรือไม่ ทำไมไม่รับรอง ผมคิดว่าเรื่องนี้จะนำไปชำแหละ “กรมการข้าว” ในที่ประชุม นบข.ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นั่งเป็นประธาน ในวันที่ 17 ก.ค.นี้ ซึ่งการไม่รับรองพันธุ์เข้าใจอะไรผิดหรือไม่ ซึ่งในการพัฒนาพันธุ์ข้าว ความความจริงข้าวทุกพันธุ์ในการพัฒนาหรือวิจัย จะต้องปลูกทดลองในนาราษฎร์ของเกษตรกรปลูกทดลองว่าพันธุ์ที่ได้ปลูกแล้วมีความเสถียรหรือไม่ อาทิ ผลผลิต และต้านทานโรคดีหรือไม่ เมื่อเก็บเกี่ยวและสีแปร แล้วมาประเมินว่า โรงสีพอใจหรือไม่ ทั้งความนุ่ม เป็นต้น เป็นขั้นตอนปกติของการพัฒนาสายพันธุ์ของนักวิจัย ไม่เช่นนั้นหากอยู่ในศูนย์วิจัยอย่างเดียว ไม่ทราบสภาพแวดล้อม ดิน ภูมิอากาศต่าง ความเหมาะสม กระบวนการเป็นอย่างนี้ทุกคนเข้าใจและทราบเป็นอย่างดี
“แต่ผมไม่เข้าใจ ใครที่ไปร้องสำนักนายกรัฐมนตรี แล้วสำนักนายกรัฐมนตรีทราบหรือไม่ ว่าขั้นตอนการวิจัยพันธุ์เป็นอย่างไร เรื่องนี้เป็นเรื่องที่แย่ที่สุดของกระบวนการพัฒนาข้าวของประเทศไทย เอาการเมืองมาเล่นกัน นักการเมืองให้ข้าราชการ แทนที่จะทำตามไทม์ไลน์ของนักวิจัยเพื่อรับรองพันธุ์ข้าวเพื่อให้ชาวนาปลูก แต่กลายเป็นว่ามีการร้องเรียนเพื่อที่จะเป็นผลประโยชน์ทางธุรกิจ”
นายสุเทพ กล่าวว่า ทั้งที่จริงแล้วไม่มีนักวิจัยคนไหนที่ได้ประโยชน์ หรือการที่เอกชนเอาไปทำพันธุ์ไว้ก่อน ถ้าเกิดพันธุ์ไม่โอเค ไม่ดี เกษตรกรไม่ต้องการ ไม่ปลูก ผู้บริโภคไม่ตอบโจทย์ไม่ซื้อ ไม่รับประทาน ก็เจ๊งเช่นเดียวกัน ผมมองในมุมกลับกันว่า เบอร์4 ที่ออกมา ข้าวของประเทศไทยมีกี่พันธุ์ที่ออกมาแล้วที่มีจุดจุบเกษตรกรไม่ปลูก เกษตรกรเจ๊ง เพราะผลผลิตน้อย อาทิ กข21 เป็นต้น
“ผมตั้งคำถามว่าทำไมไม่รับรองพันธุ์ข้าว มีอะไร ต้องถามในที่ประชุม แล้วจะไปเล่าเรื่องนี้ให้นายกรัฐมนตรีฟัง แล้วการที่สำนักนายกรัฐมนตรีร้องเรียนเรื่องอะไร ต้องเปิดเผยมาเลย อธิบดีต้องเปิดเผย และด้วยเหตุผลอะไรถึงไม่รับรองพันธุ์ข้าวนี้ ทั้งที่วันนี้การตลาดนำการผลิต พัฒนาพันธุ์เพื่อไปสู่การส่งออกไปแข่งขันกับต่างประเทศ ในเมื่อเรามีพันธุ์ที่ควรจะออกมาเพื่อสู้กับข้าวหอมพวงหรือข้าวจัสมินเวียดนาม เพื่อจูงใจให้ชาวนาปลูกทดแทนกลุ่มข้าวเหล่านี้ แต่กลับไม่รับรอง ซึ่งการกระทำในลักษณะนี้ถือว่าเป็นการทำลายข้าวไทย”
ด้านนายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า ข้าวชนิดนี้มีความโดดเด่น และรอคอยการรับรองพันธุ์ แล้วถ้าปล่อยให้ออกตลาดเร็วเพื่อกระจายออกไปสู่เกษตรกร เพื่อตอบโจทย์ตลาดในเรื่องข้าวนุ่ม ดังนั้นทั้งโรงสีและส่งออก ก็เฝ้ารอคอยที่จะนำไปทดลองตลาด เป็นพันธุ์ทางเลือก ในตลาดจะได้มีชนิดข้าวเพิ่มมากขึ้น กว่าจะได้พันธุ์ข้าวใช้เวลานับ 10 ปี
“ความจริงพันธุ์ข้าวเบอร์4 หรือ กข87 กรมการข้าวโปรโมทมานานแล้ว และได้เชิญสมาคมวงการข้าวไปทดลองชิมหลายรอบที่ศูนย์วิจัยฯ ก็เห็นว่าดี ผลผลิตก็ตอบโจทย์ ตัวข้าวเต็มเมล็ด ไม่ทราบว่าหากได้ออกไปปลูกแปลงนาจริง ผลผลิตจะดีอย่างในศูนย์วิจัยหรือไม่ ไม่ทราบ ยกตัวอย่าง กข79 ที่ออกมา หลังจากรับรองพันธุ์แล้วปรากฏว่าชาวนาไปสะดุดอายุยาว 135 วัน เป็นต้น ไม่นิยมปลูก แต่ตรงกันข้ามพันธุ์นี้คาดว่าเกษตรกรจะพอใจหากมีการรับรองพันธุ์ แต่ไม่เป็นอย่างที่คาดคิด”
นายเกรียงศักดิ์ กล่าวว่า ความจริงกรมการข้าวจะต้องถอดเรื่องนี้ออกไปโดยไม่ต้องบรรจุวาระเข้ามา ไม่ใช่มาแจ้งในที่ประชุมว่ามีเรื่องร้องเรียนเข้ามา ทำให้ทุกคน มีความคลางแคลงใจ ว่าประเด็นไหนที่เป็นข้อโต้แย้ง สาเหตุทำให้รับรองพันธุ์แบบมีเงื่อนไข เชื่อว่าเรื่องนี้ไม่จบแน่นอน ชาวนาคงไม่ยอม