มีหลายโครงการขนาดใหญ่ที่ล่าช้า เดินไม่ตรงตามแผน เนื่องจากระหว่างทางมีอุปสรรค แตกต่างกันออกไปที่จำเป็นต้องแก้ไข แต่ในที่สุดแล้ว ผู้ที่ได้ประโยชน์สูงสุดคือประชาชนผู้ใช้เส้นทาง และความเจริญกระจายลงสู่พื้นที่
แหล่งข่าวจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ระบุว่า ที่ผ่านมาได้เห็นกระทรวงคมนาคม ปรับ แผนขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐาน สู่ยุคใหม่ โดยจัดทําแผนยุทธ ศาสตร์สนับสนุนการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2560 - 2564) รองรับแนวทางการพัฒนา เชื่อมโยงกับแผน และยุทธศาสตร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง กับการขนส่งและระบบโลจิสติกส์ของประเทศ ซึ่งส่งผลดีในภาพรวม
สำหรับยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทยระยะ 20 ปี นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สะท้อนว่า ถือเป็นจุดเริ่มต้นสานต่อโครงการที่ดำเนินการในอนาคต ประกอบด้วย 5 แผนงานหลัก 1. การพัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง 2. การเพิ่มขีดความสามารถทางหลวงเพื่อเชื่อมโยงฐานการผลิตที่สำคัญของประเทศและเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน 3. การเพิ่มขีดความสามารถในการบริการขนส่งทางอากาศ 4. การพัฒนาโครงข่ายขนส่งสาธารณะเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรในกรุเทพฯ และปริมณฑล 5. การพัฒนาโครงข่ายการขนส่งทางน้ำ
ขณะเดียวกันมีหลายโครงการที่เกิดความล่าช้า ทำให้ทางกระทรวงคมนาคมจำเป็นต้องเร่งรัดดำเนินการต่อเนื่อง อย่างโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายนครปฐม-ชะอำ ซึ่งเป็นโครงการก่อสร้างใหม่ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการทบทวนรายละเอียดเกี่ยวกับปัญหาและอุปสรรค เบื้องต้นพบปัญหาเรื่องการทำความเข้าใจด้านการเวนคืนที่ดิน บริเวณพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี หากสามารถดำเนินการสื่อสารให้เข้าใจระหว่างกันได้ก็สามารถนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป หากในกรณีที่ติดปัญหาด้านการเวนคืนที่ดินก็จำเป็นที่ต้องทบทวนการปรับรูปแบบเส้นทาง โดยหลีกเลี่ยงเส้นทางเดิม ทำให้ต้องศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ใหม่ และดำเนินการรูปแบบพีพีพีใหม่เช่นกัน
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ขณะที่รถไฟความเร็วสูง (ไทย-จีน) ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา ที่ผ่านมาคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย (บอร์ด รฟท.) มีมติเห็นชอบร่างสัญญาจ้างงานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมถึงการจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร (สัญญา 2.3) โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ปัจจุบันอยู่ระหว่างการส่งต่ออัยการสูงสุดเพื่อตรวจร่างสัญญาดังกล่าว หลังจากนั้นจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป คาดว่าลงนามได้ภายในเดือนตุลาคม 2563 ตามแผน
“ทั้งนี้โครงการดังกล่าวยังติดขัดปัญหาด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อมบางส่วนบริเวณสถานีอยุธยา เนื่องจากกรมศิลปากรเห็นว่า อาจมีผลกระทบต่อโบราณสถานจำเป็นต้องปรับแนวทางการออกแบบให้สอดคล้องและเหมาะสมกับการเป็นพื้นที่มรดกโลก รวมถึงไม่บดบังทัศนียภาพ ซึ่งจะต้องรอดูการพิจารณาอนุญาตจากกรมศิลปากรว่าสามารถดำเนินการได้หรือไม่”
นอกจากนี้ความคืบหน้าโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ขณะนี้อยู่ระหว่างการเร่งเดินหน้าศึกษารูปแบบการบริหารในด้านการลงทุนก่อสร้าง การจัดขบวนรถไฟ สถานีต่างๆ จากเดิมจะให้แอร์พอร์ตลิงก์เข้ามา
บริหาร ขณะเดียวกันเอกชนคู่สัญญาได้ขอขยายสัญญา 500 วัน ทำให้เกิดความล่าช้า ส่งผลให้การเปิดให้บริการถูกเลื่อนออกไปในปี 2566 จากแผนเดิมจะเปิดให้เดือน มกราคม 2564 ปัจจุบันสถานะการก่อสร้าง ราว 70-80% ทั้งนี้ยังติดปัญหาสถานีกลางบางซื่อ ที่ล่าช้าออกไปอีก 500 วัน เบื้องต้น รฟท.แจ้งว่าจะส่งผลการศึกษาให้กระทรวงคมนาคม อีก 1 เดือน ส่วนรูปแบบการลงทุนนั้นจะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบเอกชนร่วมลงทุน (พีพีพี) เพื่อแบ่งเบางบประมาณของรัฐ จากผลการศึกษาพบว่า ในช่วง 7 ปีแรก หากดำเนินการแยกสัญญาบริหารสถานีจะขาดทุน ดังนั้นจะให้เอกชนเข้ามาบริหารและรับความเสี่ยง เพื่อหารายได้จากการบริหารสถานีดังกล่าว
หน้า 7 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,593 วันที่ 19 - 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2563