ปิดกล่องรับฟังความคิดเห็นไปเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา ต่อร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ ....) พ.ศ. ....ออกตามความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง (ฉบับที่ 3) จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รวม 5 รายการ ได้แก่ Chlorpyrifos, Chlorpyrifos-methyl, Paraquat, Paraquat dichloride และ Paraquat or paraquat methosulfate เป็นสารลำดับที่ 83 ถึงลำดับที่ 87 ในบัญชีหมายเลข 1 แนบท้ายประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 387 พ.ศ. 2560 เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง ให้ยกเลิกปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด (Maximum Residue Limit, MRL)
ทั้งนี้บทเฉพาะกาล การกำหนดระยะเวลาผ่อนผันก่อนวันที่ประกาศมีผลใช้บังคับ โดยกำหนดให้อาหารที่ผลิตในประเทศ และอาหารนำเข้าที่ส่งออกจากประเทศต้นทาง ก่อนวันที่ 1 มิถุนายน 2563 ให้ปฏิบัติตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขเลขที่ 387 พ.ศ. 2560 เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง ลงวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2560 และต้องปฏิบัติตามประกาศนี้ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ประกาศนี้ ใช้บังคับ
ต่อกรณีนี้นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากผลกระทบการแบน 2 สาร ได้แก่ “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส” มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 ได้มุ่งเป้าไปที่สินค้าอาหารอย่างเดียวที่สารตกค้างจะต้องเป็นศูนย์ ที่ผลิตผิดจากประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 387 จะไม่สามารถนำเข้าวัตถุดิบที่มีสารตกค้างเข้ามาได้ อาทิ ถั่วเหลือง สกัดน้ำมันพืช หรือสินค้าอะไรก็แล้วแต่ที่เข้ามาเป็นพื้นฐานในการแปรรูปอาหาร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ใครครอบครอง 2 สารพิษ มีโทษจำคุก 10 ปี ปรับ 1 ล้านบาท
ราชกิจจาฯ ประกาศแบน “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส” 1 มิ.ย.
‘คุณภาพและโภชนาการ’ ผลักดันธุรกิจอาหารสัตว์ไทยสู่เวทีโลก
อย่างไรก็ดีในส่วนของอาหารสัตว์ที่ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของกรมปศุสัตว์ ให้ยังคงมาตรฐานค่าสารตกค้างวัตถุดิบนำเข้าตามมาตรฐานอาหารของสหประชาชาติ(Codex) ซึ่งเรื่องนี้ได้รับการยืนยันจากกรมปศุสัตว์เรียบร้อย แล้ว ดังนั้นอุตสาหกรรมอาหารสัตว์และการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ตลอดห่วงโซ่อุปทานมูลค่ารวมกว่า 1.07 ล้านล้านบาท ถือว่าไม่กระทบ (กราฟิกประกอบ)
แหล่งข่าวจากวงการอาหาร กล่าวว่า การนำเข้าวัตถุดิบมาใช้แปรรูปในอุตสาห กรรมอาหารเวลานี้ยังทำตามประกาศเดิมของ อย. ซึ่งจะมีค่าความละเอียดของสารตกค้างต่ำกว่าค่ามาตรฐานของโคเด็กซ์ เล็กน้อย ซึ่งจากที่ อย.ได้เปิดรับฟังความเห็นต่อร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ ....) พ.ศ. ....เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง (ฉบับที่ 3) ผู้ประกอบการแปรรูปอาหารได้ให้ข้อมูลไปแล้วถึงผลกระทบหากจะกำหนดให้ค่าสารตกค้างวัตถุดิบนำเข้าเป็น 0 เพราะประเทศต้นทางส่วนใหญ่ยังมีการใช้สารในอัตราการตกค้างที่ไม่เกินมาตรฐานโคเด็กซ์ จึงหวังร่างประกาศใหม่ที่จะออกมาจะกระทบภาคส่วนที่เกี่ยวข้องน้อยที่สุด
นายอนันต์ ดาโลดม นายกสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย และนายสมศักดิ์ สมานวงศ์ นายกสมาคมอารักขาพืชไทย ให้ความเห็นพ้องกันว่า สารตกค้าง เป็นเรื่องใหญ่มาก และเป็นบทเรียนของไทยในการที่จะแบนสารต่อไปเพราะมีผลกระทบในวงกว้างมาก ดังนั้นเมื่อแบนสารเคมีแล้วสินค้านำเข้ามาก็ควรจะเป็นศูนย์ ไม่ควรยกเว้นทั้งอาหารสัตว์และอาหารคนรับประทาน เพราะหากสินค้าหนึ่ง เลือกทำได้ อีกสินค้าหนึ่งทำไม่ได้ จะกลายเป็น 2 มาตร ฐานหรือเลือกปฏิบัติ
ด้าน ดร. จรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แม้จะแบนไปแล้วโดยเฉพาะพาราควอต หากมีข้อมูลใหม่ก็สามารถที่จะยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการวัตถุอันตราย เพื่อให้พิจารณาทบทวนมติได้ โดยหลักฐานที่สมาคมจะใช้จะเป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ จะใช้ข้อมูลจากหลายแหล่ง ไม่ไปเก็บตัวอย่างข้อมูลจากแหล่งเดียว โดยที่ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับหรือยืนยันถึงพิษภัยอันตราย ทำให้เกิดผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ใช้สารจำนวนมากในเวลานี้
“ปลายเดือนนี้จะมีคดีตัวอย่างที่วงการจับตากันอยู่คือคดีฟ้องร้องบริษัทเจียไต๋ ขายพาราควอตที่ หนองบัวลำภู ทำให้ชาวบ้านป่วยเป็นโรคเนื้อเน่า จะเริ่มสืบพยาน หวังว่าความจริงจะได้ปรากฏเสียทีผ่านคดีนี้”
หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,594 วันที่ 23 - 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2563