ข้อตกลง FTA อียู-เวียดนาม มีผลแล้ว ส่งออกไทยหืดจับแน่

01 ส.ค. 2563 | 02:37 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ส.ค. 2563 | 09:51 น.

ข้อตกลง FTA ระหว่าง EU กับเวียดนามเริ่มมีผลแล้ว สินค้าไทยแข่งขันในตลาดสหภาาพยุโรปลำบากมากขึ้น

เว็บไซต์สหภาพยุโรป (EU) รายงานเมื่อ 31 กรกฎาคม 2563 ว่า ข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่าง EU กับเวียดนามเริ่มมีผลบังคับใช้ใน 1 สิงหาคม 2563 นับเป็นประเทศที่ 77 ที่มีข้อตกลง FTA ทวิภาคีกับ EU โดย EU คาดหวังว่าข้อตกลงฉบับนี้เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจยุโรปซึ่งได้รับผลกระทบจากโควิด-19

 

ทั้งนี้ เวียดนามเป็นชาติที่สองในอาเซียนต่อจากสิงคโปร์ที่ข้อตกลง FTA กับ EU มีผลบังคับใช้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

เวียดนามเป็นคู่ค้าอันดับสองของ EU ในอาเซียนรองจากสิงคโปร์ การค้าระหว่างกันเมื่อปี 2562 มีมูลค่า 45,500 ล้านยูโร

 

สินค้าส่งออกหลักของ EU ได้แก่ สินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง และเวชภัณฑ์ สินค้านำเข้าหลักจากเวียดนาม ได้แก่ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ รองเท้า เสื้อผ้าและสิ่งทอ กาแฟ ข้าว อาหารทะเล และเฟอร์นิเจอร์

ก่อนหน้านี้ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย วิเคราะห์ถึงผลที่จะตามมาหลังจากที่รัฐสภาสหภาพยุโรป (อียู) อนุมัติข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับเวียดนามว่า หลังจาก FTA มีผลไทยจะมีความยากลำบากจากการแข่งขันในตลาดอียูมากขึ้นหากไม่มีการปรับตัวหนีสินค้าเวียดนาม และคาดการณ์ว่าไม่เกิน 10 ปีนับจากนี้ไปเวียดนามจะกินรวบตลาดอียู 

 

ปัจจุบันไทยเป็นผู้นำในตลาดอียูในสินค้าสำคัญเช่น  ผลไม้ประเภท มังคุด ทุเรียน มะม่วง  , ปศุสัตว์,ข้าวสาร, ยางและผลิตภัณฑ์ยาง  ที่ส่งไปขายในตลาดอียูเป็นกลุ่มกลุ่มสินค้าที่ไทยนำหน้าอยู่   ขณะที่เวียดนามเป็นผู้นำในตลาดอียูในกลุ่มสินค้ารองเท้า เสื้อผ้า  ผลไม้บางชนิด เครื่องจักรกลและเครื่องใช้ไฟฟ้า ประมง  เป็นต้น

ข้อตกลง FTA อียู-เวียดนาม มีผลแล้ว ส่งออกไทยหืดจับแน่

“อีกไม่เกิน 10 ปีสินค้าที่ไทยเคยนำตลาดก็จะถูกเวียดนามกลืนตลาดไป  หากไทยไม่ปรับตัวหนีการผลิตสินค้ารูปแบบเดิม  ก็ต้องมุ่งไปสู่สินค้าที่มีมาตรฐานดีขึ้นหรือยกระดับพรีเมียม ผลิตสินค้าที่รักษาสิ่งแวดล้อม มีมูลค่าสูงขึ้น และต้องมุ่งมั่นในการบริหารต้นทุนให้ต่ำลง ”

 

นอกจากนี้ยังมองว่าผลผลิตจากเวียดนามอาจมีไม่เพียงพอ ดังนั้นเวียดนามสามารถนำเข้าสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้นได้  อีกทั้งห้างสรรพสินค้าในยุโรปมีแบรนด์ ดังนั้นผู้ค้าและภาครัฐต้องเข้าไปทำกิจกรรมในยุโรปให้มากขึ้นโดยส่งสินค้าระดับพรีเมียมจากประเทศไทยเข้าไปขาย

 

สำหรับข้อมูลทางการค้าระหว่างเวียดนามและยุโรป รวมถึงกับประเทศอาเซียนด้ในช่วงระหว่างปี 2552 ถึง 2561 เวียดนามส่งออกไปยุโรปขยายตัว 270% ซึ่งภายในปี2563 อาจจะพุ่งเป็น 300%  ในขณะที่ไทย 30% เวียดนามได้ดุลการค้ากับยุโรปเพิ่มจาก 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเป็น 36,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

 

ในขณะที่ไทยได้ดุลการค้า “ทรงตัว” อยู่ที่ 1 หมื่นล้านดอลลาร์ ปี 2561 เวียดนามเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 ของอาเซียนที่ส่งไปขายในยุโรป ตามด้วยสิงคโปร์ และไทย สินค้าที่ยุโรปซื้อจากเวียดนามมากเป็นอันดับหนึ่งคือ “เครื่องใช้ไฟฟ้าและสมาร์ทโฟน” และเวียดนามมีส่วนแบ่งตลาดและลำดับที่ของผู้ส่งออกไปยุโรปเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยมองว่า ไทยจะสูญเสียส่วนแบ่งตลาดส่งออกในตลาดยุโรปให้กับเวียดนามมากยิ่งขึ้น  ซึ่งเมื่อ ปี 2561 เวียดนามส่งออกมากกว่าไทย 1.6 เท่า ซึ่งจะเพิ่มขึ้นอีกเป็นมากกว่า 2 เท่าในระยะ 5 ปีข้างหน้า  ส่วนศักยภาพของแรงงานของเวียดนามจะถูกยกระดับสูงขึ้นผ่านความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมของเวียดนามโดยรวม

 

ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม ยางและผลิตภัณฑ์ยาง และเครื่องจักรกล เวียดนามจะมีศักยภาพการแข่งขันที่สูงขึ้นในระยะ 5 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นผลมาจากข้อตกลงข้อตกลงการค้าเสรี อียูกับเวียดนาม และจาก FDI จากญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และประเทศจีน ซึ่งในอนาคตกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมเหล่านี้จะมาแย่งส่วนแบ่งตลาดไทย ทั้งในตลาดยุโรปและนอกยุโรป