แหล่งข่าวคณะอนุกรรมาธิการศึกษาผลกระทบด้านการเกษตรและพันธุ์พืช ในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปชิฟิก (CPTPP) สภาผู้แทนราษฎร เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากกรณีที่ไทยควรจะเข้าร่วม CPTPP จึงได้เชิญหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทางด้านการเกษตรมาให้ข้อมูลกับคณะอนุกรรมาธิการ มีทั้งหมด 6 หน่วยงาน สาเหตุที่เชิญเนื่องจากมีอนุสัญญา UPOV 1991 เป็นเงื่อนไขหนึ่งตัวภาคีอนุสัญญา หากเข้าร่วมไทยจะต้องปฏิบัติติตามอนุสัญญานี้ด้วย ได้แก่ กรมการข้าว หากไทยเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญา UPOV 1991 ซึ่งประเทศไทยมีสายพันธุ์ข้าวกว่า 2 หมื่นสายพันธุ์ แต่ได้มีการนำมาศึกษาวิจัยพัฒนาและต่อยอดเพียง 100 กว่าสายพันธุ์เท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก
ทั้งนี้เนื่องจากประเทศไทยไม่มีงบประมาณสนับสนุนนการวิจัยและพัฒนาที่เพียงพอ จากความสมบูรณ์และความหลากหลายด้านสายพันธุ์ข้าวของประเทศไทยดังกล่าว ในส่วนของผู้แทนกรมการข้าว เห็นว่า ประเทศไทยไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเข้าร่วมอนุสัญญา UPOV 1991 เนื้องจากประเทศไทยมีสายพันธุ์ข้าวจำนวนมากให้นำมาวิจัยและพัฒนาอยู่แล้วไม่จำเป็นที่จะต้องเอาสายพันธุ์ข้าวของต่างประเทศมาวิจัยและพัฒนาอีก
แต่ในทางกลับกันหากประเทศไทยเข้าร่วมอนุสัญญา UPOV 1991 จะทำให้ประเทศไทยสูญเสียความได้เปรียบในส่วนนี้ เนื่องจากเปิดโอกาสให้ประเทศภาคีสมาชิกอนุสัญญา UPOV 1991 สามารถนำสายพันธุ์ของไทยไปพัฒนาต่อยอดได้ สร้างความกังวลให้กับเกษตรกรไทยว่าจะทำให้ต้นทุนเมล็ดพันธุ์ข้าวสูงขึ้นหรือไม่
ด้าน กรมส่งเสริมการเกษตร ได้แสดงความคิดเห็นต่อการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา UPOV 1991 ว่า เป็นหลักการที่ดีในแง่ของการส่งเสริมและพัฒนาด้านการเกษตร แต่เนื่องด้วยบริบทของประเทศไทย ในปัจจุบันยังไม่มีความพร้อมในการรองรับการเข้าร่วมอนุสัญญา UPOV1991 การเข้าร่วมหากประเทศไทยยังไม่มีความพร้อมอาจจะทำให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี
กรมปศุสัตว์ ให้ข้อมูลว่า หากประเทศไทยเข้าร่วมความตกลง CPTPP ในด้านปศุสัตว์ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยค่อนข้างน้อย หากประเทศไทยเข้าร่วมแล้วอาจทำให้เพิ่มปริมาณการนำเข้าสินค้าปศุสัตว์ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงปศุสัตว์ในประเทศ และอาจทำให้มีสินค้าปศุสัตว์ที่ปนเปื้อนสารเคมีที่ถูกนำเข้ามาในประเท รวมทั้งยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับด้านสิทธิบัตรต่างๆ ด้วย
สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS) ซึ่งเป็นทั้งมาตรการที่ใช้ในการกีดกันและมาตรการที่ใช้อำนวยความสะดวกในทางการค้าระหว่างกันมาตรฐาน SPS ที่กำหนดไว้ในความตกลง (CPTPP) สูงกว่าองค์การค้าโลกกำหนดไว้โดยทั่วไป โดยเฉพาะข้อกำหนดด้านความโปร่งใส่ในแต่ละกระบวนการ และกลไกการระงับข้อพิพาท ซึ่งประเทศไทยต้องปรับตัวตามความตกลงนี้ เนื่องจากที่เป็นข้อบทที่มีความคลอบคลุมสูงกว่าที่องค์การค้าโลกกำหนดไว้และสูงกว่าความตกลงทุกฉบับที่มี
นอกจากนี้ประเทศไทยได้มีความร่วมมือและความตกลงทางการค้ากับประเทศภาคีสมาชิก CPTPP เกือบทุกประเทศ แม้ประเทศไทยไม่เข้าร่วม ประเทศไทยก็สามารถทำการค้ากับประเทศภาคีสมาชิกได้เกือบทุกประเทศอยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นหรือเกิดผลประโยชน์ที่น่าสนใจเป็นพิเศษที่ไทยจะเข้าร่วม
ด้านสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ได้ให้ข้อมูลว่า สิ่งที่ต้องดำเนินการในกรณีที่เข้าร่วม CPTPP ประโยชน์ที่เข้าร่วม และแนวทางรองรับผลกระทบกรณีเข้าร่วม ซึ่ง กระทรวงเกษตรฯ มีความห่วงใยพี่น้องเกษตรกรต่อผลกระทบจากการเข้าร่วม ซึ่งจะต้องพิจารณาให้รอบคอบ
ปิดท้าย กรมวิชาการเกษตร ได้ให้ความคิดเห็นว่า กรมตระหนักดีว่าการเข้าร่วมอนุสัญญา UPOV 1991 เป็นประเด็นที่มีคว่ามอ่อนไหว กระทบต่อสังคมวงกว้าง มีการให้ข้อมูลทั้งที่ถูกต้องและคลาดเคลื่อน บทบาทและท่าทีของกรมวิชาการเกษตรที่มีมาโดยตลอดคือ การนำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริง ข้อกังวลของภาคประชาสังคม และข้อเสนอในการเตรียมความพร้อมของประเทศไทยก่อนเข้าร่วม UPOV 1991 การนำเสนอข้อมูล ข้อเท็จจริงของกรมวิชาการเกษตรเป็นการดำเนินการโดยอ้างอิงเอกสารที่เป็นประจักษ์พยาน สำหรับการพิจารณาว่าประเทศมีความพร้อมจะเข้าร่วมอนุสัญญา UPOV 1991 แล้วหรือไม่ เป็นการตัดสินใจในระดับนโยบาย
แหล่งข่าวคณะอนุกรรมาธิการศึกษาผลกระทบด้านการเกษตรและพันธุ์พืช กล่าวว่า การเข้าร่วมความตกลง CPTPP จะทำให้ประเทศไทยพัฒนา แต่หากประเทศไทยเข้าร่วมด้วยความไม่พร้อมจะส่งผลกระทบกับประเทศอย่างรุนแรง ดังนั้นต้องพิจารณาระยะสั้นและระยะยาวเพื่อที่จะได้มีมาตรการรองรับปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต หากไทยจะต้องเจรจาเสนอตัวเข้าร่วมในปี 2564