นางสาวซ่อนกลิ่น พลอยมี ผู้อำนวยการกองพัฒนาและเชื่อมโยงการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ “บีโอไอ” (BOI) เปิดเผยว่า บีโอไอกำลังดำเนินการจัดงานซับคอนไทยแลนด์เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยและต่างชาติได้ซื้อขายสินค้าอุตสาหกรรมและจับคู่ธุรกิจระหว่างกันภายใต้งาน ซับคอนไทยแลนด์ คู่ขนาน งานอินเตอร์แมค งานแสดงสินค้าภาคอุตสาหกรรมแบบครบวงจรด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตพร้อมจับคู่ธุรกิจระหว่างเอกชนไทยและต่างประเทศ ระหว่างวันที่ 23-26 กันยายน
ทั้งนี้ ในการจัดงานดังกล่าวจะนำออนไลน์เข้ามาใช้ด้วยเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการที่ไม่สามารถเข้าร่วมงานได้จากปัญหาโควิด-19 ทั้งนี้พบว่าไทยคือเป้าหมายของผู้ผลิตชิ้นส่วนรายสำคัญของโลกที่มีฐานผลิตในจีน ที่ต้องการเข้ามาลงทุนเพื่อกระจายความเสี่ยงหลังจากโควิด ขณะเดียวกันผู้ประกอบการไทยที่เน้นนำเข้าก็กำลังต้องการใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศเช่นกัน จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในเวลานี้
สำหรับการจัดงานครั้งนี้คาดว่าจะเกิดการจับคู่ธุรกิจอย่างน้อย 4,000 คู่ มูลค่าไม่ต่ำกว่า 7 พันล้านบาท ลดลงจากปีที่ผ่านมาซึ่งมีมูลค่าอยู่ที่ 8,000 คู่ มูลค่า 1.4 พันล้านบาท โดยการลดลงดังกล่าวนี้ถือเป็นตัวเลขที่ดีพอสมควรแล้วเมื่อเทียบกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการต่างชาติหลายรายสนใจเข้าร่วมงาน อาทิ บริษัทเครื่องมือแพทย์ประเทศฝรั่งเศส บริษัทชิ้นส่วนยานยนต์ของประเทศเยอรมนีและจีน บริษัทจากญี่ปุ่น และไต้หวัน
“บีโอไอยังคงเดินหน้าจัดกิจกรรมมุ่งสู่เป้าหมายสนับสนุนและกระตุ้นให้เกิดการเชื่อมโยงจัดซื้อจัดหาชิ้นส่วนระหว่างผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยกับผู้ซื้อทั้งในและต่างประเทศที่กำลังมองหาชิ้นส่วนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ด้วยกิจกรรมเชื่อมโยงออนไลน์ BUILD’s E-Linkage ซึ่งจะมีกิจกรรมที่หลากหลาย ทั้งการจับคู่เจรจาธุรกิจออนไลน์ (Online Business Matching) การสร้างตลาดกลางซื้อขายชิ้นส่วนออนไลน์ (online Market Place) การเสริมความรู้ด้านต่างๆ ไปพร้อมกันด้วยการสัมมนาออนไลน์ เป็นต้น โดยงานจะจัดขึ้นที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทคบางนา”
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
นายเกียรติศักดิ์ จิระขจรวงศ์ นายกสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย กล่าวว่า ผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนของไทยที่อยู่ภายใต้สมาคมฯ ประมาณ 500 บริษัท จำนวนแรงงานอีกประมาณ 50,000 คน ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ส่วนยอดคำสั่งซื้อนั้นลดลงเกือบ 100% เพราะส่วนใหญ่ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งที่ผ่านมาหลายโรงงานต่างหยุดผลิตชั่วคราว เช่น โตโยต้า นิสสัน จนส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน แต่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่ปลดคนงานแต่เลือกจ่ายค่าแรง 75% หรือตามตกลง ทำให้อุตสาหกรรมยังเดินต่อไปได้
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาสมาคมฯได้เล็งเห็นถึงการปรับตัวของผู้ประกอบการเพื่อรองรับอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงตามเทรนด์ของโลก จึงผลักดันให้ผู้ประกอบการหันผลิตสินค้าป้อนอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้อง อาทิ อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลต่างๆผลิตอุปกรณ์ป้องกันโควิด อุตสาหกรรมระบบราง ร่วมกับบริษัทโชคนำชัย ผู้ผลิตรถไฟ รถบัสอีวี เรือยอชท์ อุตสาหกรรมอากาศยานร่วมกับ บริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด ผลิตชิ้นส่วนเครื่องบินป้อนกองทัพอากาศ
“ต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนผู้ประกอบการโดยเฉพาะด้านการเข้าถึงสินเชื่อซอฟท์โลนต่างๆ รวมทั้งสนับสนุนให้เอสเอ็มอี (SMEs) ผู้ผลิตชิ้นส่วนมีส่วนในการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ เพราะเอสเอ็มอีไทยมีศักยภาพแม้ราคาจะแพงกว่าต่างชาติแต่เงินจะอยู่ในประเทศ สร้างการหมุนเวียนให้ระบบเศรษฐกิจ”
นายสรรชาย นุ่มบุญนำ รองกรรมการผู้จัดการ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ กล่าวว่า การจัดงานปีนี้จะพิเศษกว่าทุกปี เพราะมีการจัดงานร่วมกันหลายงานทั้งงานซับคอนไทยแลนด์ และอินเตอร์แมค และงานอาเซียน ซัสเทนเนเบิล เอ็นเนอยี วีค 2020 ซึ่งเป็นงานแสดงเทคโนโลยีและการประชุมด้านพลังงานที่คลอบคลุมที่สุดในอาเซียน และงานแสดงเทคโนโลยีเฉพาะทางด้านหม้อไอน้ำ ภาชนะรับแรงดัน ปั๊ม วาล์ว และอุปกรณ์เกี่ยวข้อง ซึ่งภายในงานจะมีการแสดงสินค้าเทคโนโลยีใหม่ๆ รองรับการเปลี่ยนแปลงภาคการผลิตของผู้ประกอบการ ถือเป็นงานจับคู่ธุรกิจงานเดียวที่ยิ่งครั้งใหญ่ของครึ่งปีนี้ โดยจะแบ่งห้อง งานสัมมนาทั้งในห้อง และทางออนไลน์