โกจง หรือ ชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ที่กำลังจะกลายเป็นอดีตประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เปิดใจถึงการเลือกตั้งประธานสทท.คนใหม่ที่จะเกิดขึ้นว่า จะมีผู้ลงแข่งขันทั้งหมด 4 คน ซึ่งล้วนเป็นรองประธานสทท.ในปัจจุบัน
ได้แก่ นาย ชัย อรุณานนท์ชัย สมาคมสมาพันธ์ธุรกิจการท่องเที่ยวส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย นายแพทย์สมชัย เจียรนัยศิลป์ ประธานกรรมการบริหารโรงพยาบาลธนบุรีตรัง นางวิรินทร์ตรา ปภากิจยศพัฒน์ ผู้บริหารบริษัทนิกร มารีน กรุ๊ป และประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เขต 11 (ภูเก็ต พังงา กระบี่) และนายธเนศ วรศรัณย์ ประธานคณะกรรมการท่องเที่ยวคุณภาพสูง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
ผู้สมัครทั้ง 4 คน ก็ล้วนแต่เลือกผมเข้ามานั่งประธานสทท.ทั้งสิ้น วันนี้เมื่อผมจะหมดวาระ ก็จึงเป็นเรื่องยากที่จะเลือกคนใดคนหนึ่งมาชิงเก้าอี้ประธานสทท.คนใหม่ ก็ได้มีการหารือกันว่าก็ควรให้แต่ละคนเสนอลงแข่งขันต่างคนต่างหาเสียง แต่ท้ายที่สุด 1 ใน 4 คนนี้ไม่ว่าใครจะได้รับเลือกเป็นประธานสทท.คนใหม่ ต่างก็จะร่วมกันทำงานเป็นทีมเดียวกันอยู่แล้ว
โดยแต่ละท่านก็มีประสบการณ์และความสามารถที่สามารถทำงานเพื่อขับเคลื่อนการท่องเที่ยวได้ อย่าง “หมอสมชัย” ก็เด่นเรื่อง เวลเนส แอนด์ เมคิคัล ฮับ “วิรินทร์ตรา” ก็ส่งเสริมเรื่องของอันดามันคลัสเตอร์ “ชัย” ก็ทำงานใกล้ชิดกับสมาพันธ์ธุรกิจการท่องเที่ยวส่วนภูมิภาค ส่วน “ธเนศ” ก็เป็นตัวแทนของหอการค้าไทย ทุกคนก็เหมาะสมที่จะเป็นประธานสทท.คนใหม่
โกจง ยังเปิดใจถึงมุมมองด้านการท่องเที่ยว หลังอยู่ในตำแหน่งนี้มา 2 สมัย เป็นเวลากว่า 4 ปี ที่อยากฝากถึงรัฐบาล และประธานสทท.คนใหม่ ที่จะเข้ามารับช่วงต่อว่า “สิ่งที่ผมอยากฝาก คือ ในการพัฒนาการท่องเที่ยวเราทุกพูดเรื่อง customer journey เป็นสําคัญ ต้องทำให้นักท่องเที่ยวประทับใจ และรีวิวต่อ แต่รัฐกลับเน้นไปที่เมกะ อีเว้นท์ การทำเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ คอมเพล็กซ์
แต่สิ่งที่เอกชนมอง คือ วันนี้การท่องเที่ยวไทยไม่ได้มีปัญหาในเชิงปริมาณ ผมเชื่อว่า เป้าหมายการดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ 35-40 ล้านคนในปี 2568 ไม่มีปัญหาแน่นอน แต่ปัญหา คือ การ Spending เนื่องจากผลกระทบเศรษฐกิจโลก ไทยจึงต้องเพิ่มการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวให้สูงขึ้น ซึ่งตามเป้าหมายอยู่ที่ 3.4 ล้านล้านบาท
โดยโกจง สะท้อนว่า Pain Point หลักๆของการท่องเที่ยวไทยมีอยู่ 3 เรื่อง ได้แก่
1.การท่องเที่ยวกระจุกตัวอยู่ในเมืองหลัก
2. ภาคเอกชนโดยเฉพาะธุรกิจของคนตัวเล็ก ที่ไม่เพียงเข้าสู่ระบบได้ จากการที่ไม่สามารถได้รับใบอนุญาต ประกอบธุรกิจตามพ.ร.บ.โรงแรมไทยได้ ยังมีปัญหาการไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุน ซอฟต์โลน และการเยียวยาต่างๆของภาครัฐได้ และยังมีปัญหาที่ไม่สามารถตามเมกะ เทรนด์ของการท่องเที่ยวไทย หลังโควิด-19 ไม่ทันอีกด้วย
เนื่องจากก่อนโควิด ธุรกิจหลายส่วนโดยเฉพาะบริษัทนําเที่ยว ยังปรับตัวไม่ทัน จากในอดีตที่เคยรับกรุ๊ปทัวร์ แต่วันนี้พฤติกรรมเปลี่ยนเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มเดินทางเที่ยวด้วยตัวเอง (เอฟไอที)เพิ่มขึ้นมาก
3. คือ เมืองรองต่างๆ ที่มีนักท่องเที่ยวเข้าไปน้อย เพราะกระจุกตัวอยู่ในเมืองหลักเป็นสำคัญ ปัญหาเหล่านี้ผมอยากจะฝากประธานสทท.คนใหม่ ให้ร่วมผลักดันร่วมกับภาครัฐ ช่วยกันแก้ Pain Point เหล่านี้ ซึ่งผู้สมัครทั้ง 4 คนอยู่ในกลุ่มเดียวกันอยู่แล้ว ผมมองว่าประเทศไทยไม่มีปัญหาเรื่อง ดีมานด์ ไซด์ เพราะนักท่องเที่ยวก็อยากเดินทางมาเที่ยวไทย
แต่ในส่วนของซัพพลาย ไซด์ ต่างหาก ที่ต้องเข้าไปแก้ปัญหาและปรับปรุง ซึ่งในทั้งเมืองหลักและเมืองรอง จำเป็นต้องปรับ ทั้งแหล่งท่องเที่ยว ทั้งคน และต้องทำทุกวิถีทาง ที่จะกระจายนักท่องเที่ยวจากเมืองหลักสู่เมืองรอง โดยการเชื่อมโยงและปรับปรุงระบบโลจิสติกส์เป็นเรื่องจำเป็น
การผลักดันนักท่องเที่ยวสู่เมืองรอง ไม่ใช่แค่เปลี่ยนชื่อเป็นเมืองน่าเที่ยว แล้วนักท่องเที่ยวจะมา เพราะสภาพของแหล่งท่องเที่ยว การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวยังน้อยมาก และความยุ่งยากของระบบโลจิสติกส์ในการเดินทางเชื่อมต่อเมืองหลักไปยังเมืองรอง
วันนี้การท่องเที่ยวไทยยังเติบโตได้ไม่เต็มศักยภาพ ถ้าเราสามารถกระจายการท่องเที่ยวสู่เมืองรองได้อย่างชัดเจน สามารถแก้ Pain Point หลักต่างๆได้ การจะผลักดันให้ไทยเป็นเวิล์ดคลาส ทัวริสซึมฮับ เป็นไปได้ถ้ามีการขับเคลื่อนอย่างจริงจังจากทุกภาคส่วน โดยผมเสนอว่าควรจะมีการตั้งทีมไทยแลนด์ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เข้ามาทำงานร่วมกัน เพื่อแก้ Pain Point ในแต่ละเรื่อง
รวมถึงควรจะมี KPI วัดผลที่ชัดเจน เช่น 1 กระทรวง 1 KPI เพื่อให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องให้ความร่วมมือ ซึ่งการท่องเที่ยวมีสัดส่วนคิดเป็น 20% ของ GDP และผมมั่นใจทุกรัฐบาลต้องใช้ท่องเที่ยวเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจแน่นอน แต่ที่ผ่านมา แต่ที่ผ่านมามีแต่วัตถุประสงค์ แต่ How To ไม่มี ดังนั้นถ้ามีทีมไทยแลนด์เกิดขึ้น ผมเสนอว่าควรจะเข้ามีการ “ รีดีไซน์” การท่องเที่ยว ใน 6 เรื่องสำคัญ
1. การกระจายท่องเที่ยวเมืองรอง
2.การพัฒนาเมืองรองทั้งคน ทั้งแหล่งท่องเที่ยวให้มีมาตรฐาน
3. การดีไซน์แต่ละเมืองทั้งเมืองหลักและเมืองรอง ให้คนท้องถิ่น เกิดความเข้าใจว่าจะทำอย่างไรในการดึงการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว ไม่ใช่แค่ความเป็นแค่ชุมชนท่องเที่ยวแล้วจะได้เงิน ถ้าไม่เข้าใจพฤติกรรม และ Journey ของนักท่องเที่ยว ซึ่งควรจะให้องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) เข้ามาช่วยดูแลพัฒนาชุมชนท่องเที่ยวต่างๆ ดีไซน์ Customer Journeyเพื่อสร้างโอกาสให้ชุมชน ไม่ใช่แค่ดูแลเฉพาะพื้นที่พิเศษเท่านั้น
4. การกระตุ้นให้คน และเด็กจบใหม่ ก้าวเข้าสู่ภาคการท่องเที่ยว ที่จะต้องมีอินเซ็นทีฟในการกระตุ้น เพราะปัจจุบันคนทำงานภาคการท่องเที่ยวเริ่มน้อยลงทุกที กลายเป็นคนจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาทำเพิ่มขึ้น ถ้าเป็นแบบนี้ต่อไปการท่องเที่ยวแม้จะเติบโตขึ้น แต่กลายเป็นแหล่งทำเงินของแรงงานต่างด้าว ไม่ใช่คนไทยไป
5.การเพิ่มเติมตลาดที่มีกำลังใช้จ่ายสูง เช่น การสนับสนุนทีเส็บ กระตุ้นให้ไทยเป็นเมืองประชุมของโลก การให้กระทรวงสาธารณสุข และโรงพยาบาลต่างๆของไทย ช่วยทำให้ไทยเป็นทัวริสซึม แอนด์ เวลเนส ฮับ อย่างเป็นจริง
6. การขายการท่องเที่ยวไทยในแบบคลัสเตอร์ ทุกวันนี้การท่องเที่ยวไม่ใช่เน้นแค่อีเว้นท์ แต่เราทำขายเป็นคลัสเตอร์ให้ได้ เช่น อันดามันคลัสเตอร์ อันดามันโคสต์ไลน์ ทำถนนเลียบหาดไมอารี, Around Bangkok ,Around ขอนแก่น ที่มีการกำหนดเส้นทางและกิจกรรมที่ชัดเจนว่าจะไปเที่ยวที่ไหนได้บ้าง ดึงนักท่องเที่ยวจากเมืองหลักมาเมืองรองในคลัสเตอร์ต่างๆเป็นต้น
ทั้งหมดล้วนเป็นมุมมองและการส่งไม้ต่อแนวคิดในการทำงานเพื่อส่งต่อถึงรัฐบาลและประธานสทท.คนใหม่ที่จะเกิดขึ้น