ผู้สื่อข่าวรายงาน(14 ส.ค.63)ว่า 3 องค์กรเศรษฐกิจด้านธุรกิจเกษตรและอาหาร ประกอบด้วยสถาบันอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยได้แถลงถึงภาพรวมอุตสาหกรรอาหารของไทยช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 ระบุว่า ผลผลิตอุตสาหกรรมอาหารของไทยลดลงร้อยละ 8.6 ด้านการส่งออกมีมูลค่า 505,584 ล้านบาท หดตัวลงเล็กน้อยร้อยละ 2.0 จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 พบกลุ่มสินค้าอาหารแปรรูปขยายตัวเพิ่มขึ้น(+0.1%) ขณะที่กลุ่มสินค้าเกษตรวัตถุดิบหดตัวลง(-3.7%) ทั้งนี้คาดการส่งออกอาหารไทยในช่วงครึ่งปีหลังจะพลิกกลับมาเป็นบวก คาดมีมูลค่าราว 519,416 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 ทั้งนี้ประเมินว่าหากกิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัว เงินบาทไม่แข็งค่าและผันผวนมากนัก และการขาดแคลนวัตถุดิบมีแนวโน้มลดลงจากภัยแล้งที่เริ่มคลี่คลาย ภาพรวมปี 2563 การส่งออกอาหารจะมีมูลค่า 1,025,000 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 0.8
นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า จากการรวบรวมข้อมูลจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องภายใต้การดำเนินงานของ ศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร หรือ Food Intelligence Center โดยมีสภาอุตสาหกรรมฯ และสภาหอการค้าฯ ร่วมบูรณาการข้อมูล พบว่าช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 ผลผลิตอุตสาหกรรมอาหารของไทยหดตัวลงมากที่ร้อยละ 8.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากมาตรการล็อกดาวน์ประเทศ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของสถานการณ์โควิด-19 โดยการผลิตสำคัญที่หดตัวลงในช่วงครึ่งปีแรก ได้แก่ น้ำตาลทราย(-38.0%) แป้งมันสำปะหลัง(-4.9%) กุ้งแช่แข็ง(-3.9%) และสับปะรดกระป๋อง (-7.9%) ส่วนอุตสาหกรรมที่มีการผลิตเพิ่มสูงขึ้น ได้แก่ การแปรรูปเนื้อไก่ (+3.1%), ปลาทูน่ากระป๋อง (+18.1%) เครื่องปรุงรส (+3.9%) และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป (+10.7%) เป็นต้น
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ด้านการส่งออกอาหารของไทย ภาพรวมครึ่งปีแรกหดตัวลงเล็กน้อยร้อยละ 2.0 มีมูลค่า 505,584 ล้านบาท พบว่ากลุ่มสินค้าอาหารแปรรูปขยายตัวเพิ่มขึ้น (+0.1%) มีมูลค่า 238,869 ล้านบาท ขณะที่กลุ่มสินค้าเกษตรวัตถุดิบการส่งออกหดตัวลง (-3.7%) มีมูลค่า 266,715 ล้านบาท โดยในไตรมาสแรกของปี 2563 การส่งออกหดตัวลงร้อยละ 9.1 และสามารถพลิกกลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 ได้ในไตรมาสที่ 2 เพราะประเทศผู้นำเข้าเริ่มมีการสั่งซื้อสินค้าอาหารเพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น
สำหรับสินค้าอาหารของไทยที่ส่งออกได้เพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีแรก ได้แก่ ไก่สดและแปรรูป(+2.1%) ปลาทูน่ากระป๋อง(+10.0%) เครื่องปรุงรส(+6.6%) และอาหารพร้อมรับประทาน(+15.8%) ส่วนสินค้าที่ส่งออกหดตัว ได้แก่ ข้าว (-14.9%) น้ำตาลทราย(-12.8%) แป้งมันสำปะหลัง(-12.2%) กุ้ง(-13.2%) สับปะรด(-1.0%) และมะพร้าว(-15.0%) ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนวัตถุดิบ (ข้าว น้ำตาลทราย แป้งมันสำปะหลัง สับปะรด) รวมถึงช่องทางจำหน่ายที่หดตัว กระทบต่อการส่งออกกุ้งและมะพร้าว (กะทิสำเร็จรูป) โดยเฉพาะช่องทางจำหน่ายในกลุ่มธุรกิจปลายน้ำอย่างโรงแรม ภัตตาคาร และร้านอาหาร (HORECA) ที่ไม่สามารถเปิดให้บริการได้
ทั้งนี้ตลาดที่ไทยส่งออกได้เพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีแรก ได้แก่ จีน(+27.4%) สหรัฐฯ(+14%) และโอเชียเนีย(+8.5%) ส่วนตลาดที่หดตัว ได้แก่ อาเซียน(-7.4%) ญี่ปุ่น(-2.5%) สหภาพยุโรป(-11.4%) แอฟริกา(-33.3%) และตะวันออกกลาง(-12.5%) โดยแนวโน้มการค้าอาหารโลกในช่วงครึ่งปีแรกคาดว่าจะมีมูลค่า 645,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 ตามความต้องการนำเข้าสินค้าอาหารของประเทศคู่ค้าสำคัญเพื่อรองรับสถานการณ์โควิด-19 ภาครัฐของแต่ละประเทศมีการผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ทำให้มีความต้องการสินค้าอาหารเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะจีนที่เศรษฐกิจฟื้นตัวเร็วกว่าคาด ทำให้ความต้องการอาหารเพิ่มสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด
“แนวโน้มการส่งออกอาหารของไทยในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น การส่งออกจะพลิกกลับมาเป็นบวก จะมีมูลค่าราว 519,416 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 โดยภาพรวมตลอดทั้งปี 2563 คาดว่าการส่งออกจะมีมูลค่า 1,025,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 สินค้าหลักที่คาดว่าจะมีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ไก่ ปลาทูน่ากระป๋อง เครื่องปรุงรส อาหารพร้อมรับประทาน รวมทั้งสับปะรด”
ส่วนที่คาดว่ามูลค่าส่งออกจะลดลง ได้แก่ ข้าว น้ำตาลทราย แป้งมันสำปะหลัง กุ้ง และมะพร้าว ซึ่งการคาดการณ์อยู่ภายใต้เงื่อนไขของความต้องการอาหารมีแนวโน้มฟื้นตัว หลังกิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยกลับมาดำเนินงานได้มากขึ้น ช่องทางค้าปลีกขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยชดเชยการลดลงของการจำหน่ายในช่องทางโรงแรม ภัตตาคาร และร้านอาหารได้ระดับหนึ่ง เงินบาทจะไม่แข็งค่าและไม่ผันผวนมากจนเกินไปภายใต้กรอบ 31-32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และแรงกดดันจากภาวะขาดแคลนวัตถุดิบมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากภัยแล้งที่เริ่มคลี่คลายจากปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มสูงขึ้น