กมธ.ถกลับ “ซีพี” ควบรวม “โลตัส” ผูกขาดการค้าหรือไม่?

19 ส.ค. 2563 | 03:48 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ส.ค. 2563 | 11:05 น.

กมธ.ถกลับซีพี ซื้อเทสโก้โลตัสผูกขาดการค้าหรือไม่ ผู้บริหารเลี่ยงตอบ ชี้ควรเปิดแข่งขันเสรี ยกกรณีแพลตฟอร์มออนไลน์ชื่อดังยังไม่ถูกจำกัดด้วยกฎหมาย ผู้แทนแม็คโครยันไม่ผูกขาด

 

วันที่ 11 สิงหาคม 2563 ได้มีการประชุมร่วมกันของประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)การพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา ประธานคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ และประธานคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร นำทีมโดยนายอันวาร์  สาและ ประธานคณะกรรมาธิการการพาณิชย์ และทรัพย์สินทางปัญญา ประชุมร่วมกับคณะผู้บริหารบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด(ซีพี) นำทีมโดยนายสุภกิต  เจียรวนนท์ ประธานกรรมการบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์,นายธนากร เสรีบุรี รองประธานกรรมการอาวุโส, นายอดิเรก  ศรีประทักษ์ ประธานกรรมการบริหาร CPF  และผู้บริหารเครือซีพีจาก บมจ.ซีพีออลล์ บมจ.สยามแม็คโคร และจากกลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร(ข้าวโพด)ของเครือซีพี ณ อาคารซีพีทาวน์เวอร์(สีลม)

 

ทั้งนี้นอกจากทั้งสองฝ่ายจะได้หารือกันถึงแนวทาง/มาตรการที่จะต้องเร่งผลักดันให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รวมถึงข้อเสนอแนะของเครือซีพีในการปฏิรูปเกษตรแปลงใหญ่ และการปฏิรูประบบการศึกษาของประเทศเพื่อพัฒนาเยาวชน คนรุ่นใหม่ให้มีความรู้และคุณภาพเพื่อเป็นกำลังสำคัญของชาติในภายภาคหน้าแล้ว

 

รายงานข่าวเผยว่า ในการประชุมร่วมครั้งนี้คณะกรรมาธิการยังได้กล่าวถึง กรณีมีหนังสือไปยังคณะกรรมาธิการฯ เพื่อขอให้พิจารณาศึกษา แนวโน้มการผูกขาดการค้าในตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคในประเทศไทย เนื่องจากเครือซีพีได้เข้าซื้อเทสโก้โลตัสประเทศไทยและมาเลเซีย ซึ่งการควบรวมกิจการดังกล่าวอาจทำให้บริษัทผู้จัดจำหน่าย (ซัพพลายเออร์) ที่จำหน่ายสินค้าให้ธุรกิจกลุ่มซีพีมีอำนาจต่อรองที่ต่ำลง หรือถูกกดดันให้ทำการค้าเฉพาะกับบริษัทในกลุ่มซีพีอันมีลักษณะเป็นการกำจัดบริษัทคู่แข่ง ผู้ประกอบการรายย่อยต้องถูกบีบหรือกดดันให้ออกจากตลาด เนื่องจากมีต้นทุนที่สูงขึ้น และสุดท้ายคือทำให้ผู้บริโภคต้องซื้อสินค้าในราคาที่สูงขึ้นและเหลือทางเลือกในการซื้อสินค้าน้อยลง

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

"CP" ซื้อ "โลตัส' ซุ่มยื่นเอกสารรอบ 2 ลุ้น กขค.เคาะใน 90 วัน

ไล่บี้‘ซีพี’ซื้อโลตัส SMEs-โชห่วยจ่อตาย

เมื่อ เทสโก้ โลตัส กลับสู่มือคนไทย

 

ในเรื่องนี้ผู้แทนเครือซีพี กล่าวว่า ปัจจุบันการค้าปลีกมีการพัฒนาตัวเองอย่างมาก ทั้งในระบบออนไลน์ และออฟไลน์ทั้งขนาดเล็กและขนาดกลาง ในอนาคตร้านอาหารสามารถซื้อสินค้าจากร้านโชห่วยได้ ที่ผ่านมา บริษัทฯ มักจะถูกโจมตีอยู่เสมอ ทั้งนี้เห็นว่าในการดำเนินธุรกิจในตลาดเสรี คนไทยควรเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันกันอย่างเสรีด้วย เนื่องจากปัจจุบันมีแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เข้ามามีบทบาททางการค้าในประเทศไทยและไม่ถูกจำกัดด้วยกฎหมาย เช่น LAZADA JD.COM และ Amazon ดังนั้น สิ่งที่แต่ละองค์กรควรตระหนักคือ คิดหาแนวทางเพื่อสร้างความเติบโตธุรกิจในองค์กรให้มีความยั่งยืน และสามารถก้าวผ่านสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19ไปได้

 

กมธ.ถกลับ “ซีพี” ควบรวม “โลตัส” ผูกขาดการค้าหรือไม่?

 

ด้านผู้แทนบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ในเครือซีพี กล่าวว่า อุตสาหกรรมค้าปลีกมีการแบ่งส่วนตลาด (Segmentation) ที่ชัดเจนอยู่แล้ว กรณีเทสโก้โลตัสจัดเป็น Hypermarket มีกลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้บริโภคทั่วไป และกลุ่มลูกค้าของ บริษัท สยามแม็คโครฯ ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าโชห่วย เช่น ร้านอาหารซึ่งเป็นลูกค้าหลัก ประมาณ 600,000 กว่าราย บริษัท สยามแม็คโครฯ ได้ทำงานร่วมกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเพื่อสนับสนุนการทำงานของร้านโชห่วย เช่น โครงการ Smart โชห่วย เป็นต้น

 

ดังนั้น เป็นไปไม่ได้ที่จะกล่าวว่า การควบรวมกิจการของเครือซีพีเป็นการผูกขาดการค้าในตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค และทางซีพีกำหนดค่านิยมไว้ 3 ประโยชน์ คือ 1) ประเทศชาติ 2) ชุมชน/ผู้บริโภค 3) พนักงาน และการมีธรรมาภิบาลที่ดี อีกทั้งบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด พยายามซื้อผักสด และผลไม้สด จากผู้ประกอบการ SMEs และวิสาหกิจชุมชนซึ่งนับเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ