คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติแบน "พาราควอต" และ "คลอร์ไพริฟอส" และมีประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2563 ซึ่งกำหนดให้ "พาราควอต" และ "คลอร์ไพริฟอส" เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 โดยมี ผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา ล่าสุด คณะกรรมการอาหารเห็นชอบร่างกฎหมาย เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง หลังทบทวนและประชุมหารือกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน เอกชน และเครือข่ายห้องปฏิบัติการ เห็นชอบร่วมกันใช้ค่า "ต่ำสุดที่ห้องปฏิบัติการสามารถตรวจสอบได้" หรือ "LOD" (Limit of Detection)
ทั้งนี้ยึดหลักการสำคัญเน้นคุ้มครองความปลอดภัยสุขภาพของผู้บริโภคและความเท่าเทียมระหว่างผู้ผลิตและผู้นำเข้าอาหาร สำหรับข้อกังวลของอุตสาหกรรมอาหารเกี่ยวกับผลกระทบการขาดแคลนสินค้าเกษตรที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการแปรรูปอาหาร โดยเฉพาะ "ถั่วเหลือง" และ "ข้าวสาลี" มีค่ากำหนดสอดคล้องกับสหภาพยุโรป (EU) ที่มีการแบนพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสเช่นเดียวกัน ซึ่งจะมี ผลบังคับใช้ 1 มิถุนายน 2564 แต่ในระหว่างนี้จนถึง มิถุนายน ปี 2564 ยังอนุญาตให้นำเข้าอาหารจากประเทศที่ใช้พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส แต่ผลตกค้าง ต้องไม่เกินค่า MRLs (Maximum Residue Limits) ของ โคเด็กซ์ (CODEX) ในแต่ในส่วนของเกษตรกร "กรมวิชาการเกษตร" ให้เกษตรกร 2 สารคืนร้านค้า ภายในวันที่ 29 สิงหาคม 2563 เหลือระยะเวลา 4 วันเท่านั้น ผิดกฎหมาย มีโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี ปรับ 1 ล้านบาท
นายเติมศักดิ์ บุญชื่น ประธานคณะกรรมการด้านพืชไร่ สภาเกษตรกรแห่งชาติ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” จากมติที่ผ่อนปรนให้ผู้นำเข้าสามารถนำเข้าได้นั้น 2 มาตรฐาน ทางสภาเกษตรกรแห่งชาติ จะทำหนังสือถึงรัฐบาลเพื่อให้เกษตรกรได้ใช้สารเคมี “พาราควอต" และ "คลอร์ไพริฟอส" อย่างน้อยระยะเวลา 1 มิ.ย. 2564 เท่ากัน ขณะที่เกษตรกรจะต้องส่ง 2 สารคืน ภายในวันที่ 29 ส.ค. นี้ ซึ่งเหลือเวลาแค่ 4 วันเท่านั้น ทำไม 2 มาตรฐาน ไม่ยอมแน่นอน หากแบนในประเทศ สินค้านำเข้าก็ไม่ควรที่จะตกค้าง 2 สารเคมีแบน เช่นเดียวกัน
“ผมคิดว่าเกษตรกรไม่คืนแล้วต้องแอบใช้แน่นอน เพราะว่าในส่วนของ "พาราควอต" ต้องยอมรับว่าเกษตรกรใช้ทุกพืช เกษตรกรได้รับผลกระทบเพราะไม่มีสารทดแทนในราคาที่ถูกกว่า โดยราคาลิตร ประมาณ 100 กว่าบาท แล้วแต่ยี่ห้อ ใน 1 ลิตร สามารถกำจัดวัชพืชได้ประมาณ 2-3 ไร่ และช่วงนี้มีปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตร ถ้าสารวัตรเกษตร จับกุม ผมคิดว่า เกษตรกรค่อนประเทศ จะเป็นผู้ต้องหา”
สอดคล้องกับนายธีระชัย แสนแก้ว ประธานชมรมชาวไร่อ้อยภาคอีสาน กล่าวว่าถ้าพูดถึง “เกษตรกร” รากหญ้า ไม่รู้เรื่อง จะมาใช้มาตรการทางกฎหมาย หรือหลักนิติศาสตร์ไม่ได้ จะต้องใช้หลักแนะนำ พ่วงหลักรัฐศาสตร์ ถ้าไปจับกุมเลย ไม่ได้ เพราะทั้งรัฐบาลพังเลย เพราะจะกลายเป็นว่า “รัฐบาลรังแก" ทั้งทางเจ้าหน้าที่ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องไปลงพื้นที่อธิบายที่มาที่ไปให้เกษตรกรเข้าใจ พร้อมกับคำแนะนำ รวมทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ต้องประชาสัมพันธ์ให้เข้าใจทั้งหมด อย่างน้อยตักเตือนก่อน แล้วอธิบายให้เข้าใจ ไม่ใช่จะใช้วิธีดำเนินคดีไม่ได้ อย่าทำ
“ที่สำคัญเปิดโอกาสให้ผู้นำเข้ายังคงสารตกค้างได้ ในขณะที่เกษตรกรไม่ให้ใช้สารเคมี สวนทางกันหรือไม่ แล้วการแบนสารเคมี 2 ตัวนี้ เกษตรกรก็มีความเสียหายไม่แตกต่างจากผู้นำเข้า ซึ่งการกระทำแบบนี้ แปลเจตนาไปอีกแบบหนึ่งเลยว่า "ทำไมไม่ช่วยคนจน ช่วยแต่คนรวย" แล้วใครได้ใครเสียแบบนี้ "ย้อนแย้ง" ผมเชื่อว่าผลกระทบเกิดขึ้นแน่นอนหากออกมาในรูปแบบนี้ เรียก "ทัวร์ลง" เกิดม็อบรายวัน แน่นอน เพราะ "เกษตรกรไม่มีวันยอม" ในประเทศให้เขาแบนไม่ให้ใช้เลย แต่กลับเอื้อประโยชน์ให้นายทุนนำเข้าข้าวโพด ข้าวสาลี ตกค้างได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลก ”
ข่าวเกี่ยวข้อง