ปี 2563 คณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ (พิกบอร์ด) คาดการณ์ไทยจะมีปริมาณผลผลิตสุกรขุน 22.41 ล้านตัว ลดลงจากปี 2562 ร้อยละ 0.53 เนื่องจากภาวะราคาสุกรมีชีวิตตกต่ำในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้เกษตรกรลดการเลี้ยงแม่พันธุ์ ประกอบกับตลาดต่างประเทศมีความต้องการสินค้ามากขึ้นจากไทยปลอดโรคแอฟริกันสไวน์ฟีเวอร์(ASF) เช่นเดียวกับตลาดในประเทศมีความต้องการมากขึ้น หลังรัฐบาลผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์จากโควิด-19 ส่งผลให้ราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มปรับตัวสูงขึ้น มีผลให้ราคาเนื้อสุกรชำแหละสูงขึ้นตามไปด้วย ขณะที่การส่งออกสุกรมีชีวิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และเป็นอีกตัวแปรหนึ่งที่อาจส่งผลทำให้สุกรในประเทศมีไม่เพียงพอต่อการบริโภค
น.สพ.วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า พิกบอร์ด ได้มีมติตั้งคณะกรรมการติดตามการส่งออกและการบริโภคภายใน ประกอบด้วย กรมการค้าภายใน กรมปศุสัตว์ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ สมาคมพัฒนาธุรกิจสุกรไทย และสมาคมผู้ผลิตและแปรรูปสุกรเพื่อการส่งออก โดยจะต้องทำรายงานเสนอ 2 รัฐมนตรีคือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ทุก 15 วัน เพื่อสร้างความสมดุลของหมูมีชีวิตสำหรับตลาดในประเทศและส่งออก รวมทั้งหมูแปรรูปที่ส่งออกไปญี่ปุ่น และฮ่องกง
ปัจจุบันไทยมีผลผลิตหมูมีชีวิตออกสู่ตลาดวันละประมาณ 6 หมื่นตัว บริโภคในประเทศ 4-5 หมื่นตัวต่อวัน ที่เหลือส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้าน (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม จีน) โดยในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ส่งออก 6,000 ตัว ซึ่งบางเดือนก่อนหน้านี้เคยส่งออกภายใต้การดูแลมาตรฐานโรคของกรมปศุสัตว์ถึง 8,000 ตัว แต่โดยเฉลี่ยอยูที่ 6,000 ตัวต่อเดือนบวก/ลบ โดยราคาส่งออกเฉลี่ยที่ 85 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ทั้งนี้ผู้บริโภคไม่ต้องกลัวว่าหมูจะขาด แคลนหรือราคาแพง เพราะมีกรมการค้าภายในเป็นกรรมการร่วมด้วย
“จากราคาหมูที่ปรับตัวสูงขึ้น จูงใจให้เกษตรกรเลี้ยง และมีการขยายฟาร์ม ทั้งรายเล็กรายย่อย แม้กระทั่งรายใหญ่ มองอนาคตอุตสาหกรมหมูน่าดีอย่างนี้ไปอีก 1-2 ปี ถือว่าโอกาสทองของหมูไทย”
ด้านนายอภิศักดิ์ อังคสิทธิ์ รองประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า จากสถานการณ์ภัยแล้งที่ผ่านมา ทำให้เกษตรกรต้องซื้อน้ำเลี้ยงหมู บางฟาร์มมีค่าใช้จ่ายเป็นล้านบาท ขณะที่กรมการค้าภายใน และกรมปศุสัตว์ ขอความร่วมมือให้ทุกฟาร์มตรึงราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มไม่เกิน 80 บาทต่อ กก. ถือเป็นราคาที่น่าจะเป็นโอกาสของผู้เลี้ยงบ้าง ซึ่งทุกฟาร์มพร้อมให้ความร่วมมือช่วยผู้บริโภค
“ในข้อเท็จจริงแล้ว ขณะนี้เกษตรกรเจอค่าอาหารราคาค่อนข้างสูง ประกอบกับเจอภัยแล้งน้ำไม่มี ต้องหาซื้อน้ำมาเลี้ยงหมู ทำให้ต้นทุนสูงลิ่ว บางฟาร์มจ่ายค่าน้ำอย่างเดียวเดือนละล้านบาท เกษตรกรหรือฟาร์มรายใหม่เริ่มต้นปีนี้ลำบาก ความจริงแล้วควรปล่อยตามกลไกราคาตลาด เพื่อให้โอกาสคนเลี้ยงบ้าง อย่ามองแต่ผู้บริโภคเพียงอย่างเดียวเพราะเกษตรกรแบกภาระขาดทุนมาหลายปีแล้ว”
อนึ่ง บริษัทส่งออกสุกรขุนและลูกสุกรมีชีวิต 10 อันดับแรกในปี 2563 (ม.ค.-13 ส.ค.63) ได้แก่ บริษัท ค่ำคูณทรานสปอร์ต จำกัด (บจก.) 3.56 แสนตัว 2.ห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) รักษ์ชายแดน 2.34 แสนตัว 3.หจก.โอเค รุ่งเรือง 999 2.14 แสนตัว 4.บจก.ไทยบูรพาเทรดดิ้ง 1.29 แสนตัว 5. บจก.รัตน์ชญา อินเตอร์ เทรด ดิ้ง 1.14 แสนตัว 6.หจก.โสธิดา 5.18 หมื่นตัว 7.บจก.สิงห์ไทยชิปปิ้ง 3.3 หมื่นตัว 8.นายคำสิงห์ แสวงทรง 2.9 หมื่นตัว 9. หจก.วังน้ำเย็นอินเตอร์เทรด 2.79 หมื่นตัว และ 10.นางสาวเพียงนภา ทาทอง 2.59 หมื่นตัว รวม 10 อันดับแรก 1.21 ล้านตัว จากที่ส่งออกทั้งหมด 1.57 ล้านตัว
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง