นาวาอากาศเอกสมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ตอนนี้พายุโซนร้อน “โนอึล” เป็นพายุระดับ3 อยู่ในทะเลจีนใต้มีความเร็วลมที่ 85 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ยังมุ่งหน้าเข้าฝั่งทางเวียดนาม จะมีความเร็วค่อยๆ สูงขึ้นไป คืนนี้ประมาณเที่ยงคืนไปแล้ว คาดว่าเป็นพายุโซนร้อนระดับ4 แล้วจะค่อยๆ ทวีความรุนแรงไปเรื่อยๆ จนถึงพายุโซนร้อนระดับ5 หรือ “ไต้ฝุ่น” ในวันที่ 18 กันยายนนี้ ก่อนที่จะขึ้นประเทศเวียดนาม ซึ่ง “ตัวขอบของพายุ” ที่เริ่มจะมีผลกระทบกับไทยในวันพรุ่งนี้ (17 ก.ย.63) ในพื้นที่ของภาคคอีสาน หรือตะวันออกเฉียงเหนือ อาทิ จังหวัดนครพนม ,มุกดาหาร,หนองคาย ,บึงกาฬ,สกลนครและร้อยเอ็ด เป็นต้น รวมถึงกรุงเทพฯ ที่จะได้รับอิทธิพลจากพายุดังกล่าวจะแผ่ขยายรัศมีเป็นบริเวณกว้าง จะส่งผลกระทบภาคเหนือ กลาง ในวันที่ 18-20 กันยายน นี้ คาดว่าจะทำให้พื้นที่ต่างๆ มีฝนตกหนักถึงหนักมาก
ดังนั้นจึงอยากให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ของภาคอีสานทุกจังหวัดเตรียมความพร้อมมีการดูแลตัวเอง และฟังพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา สิ่งที่ห่วงใยก็คือ เกิดขึ้นในเวลากลางคืน หลังเที่ยงคืนในรอยต่อของแต่ละวัน ซึ่งเป็นช่วงเวลาของพี่น้องประชาชนพักผ่อนจะทำให้พี่น้องประชาชนไม่สามารถเตรียมตัวได้ทัน อยากให้ผู้ที่ดูแลหมู่บ้านชุมชน หรือผู้รับผิดชอบช่วยกันตรวจสอบติดตามและย้ำเตือนพี่น้องประชาชนในการอพยพยกของไว้พื้นที่สูง หรือเคลื่อนย้ายคนเจ็บคนป่วย คนชราไปในพื้นที่ปลอดภัย เพราะจะมีเรื่องผลกระทบฝนตกหนักและหนักมาก ลมกรรโชกแรงในพื้นที่ของภาคอีสาน
นาวาอากาศเอกสมศักดิ์ กล่าวว่า “กรมอุตุนิยมวิทยา” เดิมมีหน้าที่ติดตามพยากรณ์อากาศ ติดตามสภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศอย่างต่อเนื่องทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง แต่ในสถานการณ์ดังกล่าวนี้คาดการณ์ว่าจะมีผลกระทบต่อประชาชน จึงได้ยกระดับในการทำงาน ติดตาม อย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มการรายงานการพยากรณ์อากาศ ในการให้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนเป็นราย 3 ชั่วโมง (17 ก.ย.63) จะมีผลกระทบกับประเทศไทยในวันพรุ่งนี้ และส่งผู้บริหารส่วนหนึ่ง รองอธิบดีและผู้อำนวยการที่ดูแลเรื่องภูมิอากาศก็ส่งไปดูแลที่ส่วนหน้าก็คือในพื้นที่ที่คาดว่าจะมีผลกระทบ ก็คือ กรมอุตุฯศูนย์ จังหวัดอุบลราชธานีและ กรมอุตุฯขอนแก่น เพื่อที่จะรายงานให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด หรือผู้ที่รับผิดชอบในท้องถิ่นได้รับข้อมูลแบบรวดเร็วและถูกต้อง
"พร้อมกับประมวลผลร่วมกัน ตั้งคณะทำงานจะมีประชุมทางไกลกับส่วนกลางเพื่อให้ข้อมูลตรงกัน พอถึงสถานการณ์ที่จะมีความรุนแรงขึ้นจะปรับเวลารายงานให้เร็วขึ้นเป็น 1 ชั่วโมง (18 ก.ย.63) นี่คือการทำงานของกรมอุตุนิยมวิทยา แบบเชิงรุก พ่วงการใช้เทคโนโลยีดิจิตอลช่วยการทำงานให้ข้อมูลข่าวสารเพื่อให้ได้ทันท่วงที ก็อยากจะย้ำเตือนว่า การเกิดสภาวการณ์นี้เกิดขึ้นในเวลากลางคืนในช่วงรอยต่อระหว่างวัน ซึ่งเป็นช่วงพักผ่อนอยากให้ติดตามการรายงานพยากรณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิดเพื่อประกอบการตัดสินใจ โดยเฉพาะผู้ดูแลชุมชน ท้องถิ่น ช่วยกันย้ำเตือน และวางแผนการอพยพ หรือการดูแลพี่น้องประชาชนให้อยู่รอดปลอดภัย"