การชุมนุมของนักเรียน นักศึกษาหลายสถาบันทั่วประเทศ ชู 3 นิ้วเรียกร้อง 3 ข้อหลัก “ยุบสภา-หยุดคุกคาม-ร่างรัฐธรรมนูญใหม่” สู่เยาวชนปลดแอกเรียกร้อง 3 ข้อ 2 จุดยืน 1 ความฝัน ล่าสุดการชุมนุมของแนวร่วมธรรมศาสตร์ที่มีขึ้นในวันที่ 19-20 กันยายน เรียกร้องปฏิรูปสถาบัน 10 ข้อ ที่กำลังสั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาล ท่ามกลางความสุ่มเสี่ยงโควิด-19 ระบาดรอบสองที่อาจเป็นสองแรงบวกซ้ำเติมเศรษฐกิจ และความเชื่อมั่นของต่างชาติที่มีต่อประเทศไทยให้ลดน้อยถอยลงไปอีกนั้น ผู้นำสถาบันหลักภาคเอกชนได้จับตามองด้วยความกังวล
กระทบศก.-เชื่อมั่น
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภาคเอกชนได้จับตามองสถานการณ์การชุมนุมอย่างใกล้ชิดว่าจะเป็นไปในทิศทางใด จะมีความรุนแรงสร้างความเสียหายด้านทรัพย์สิน หรือบุคลากรหรือไม่อย่างไร โดยหวังว่าเศรษฐกิจจะไม่เลวร้ายไปมากกว่า ณ ปัจจุบันที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อยู่แล้ว
“เดิมปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ การค้าการลงทุนของประเทศมากสุดตามลำดับคือ โควิด-19 สงครามการค้า ค่าเงินบาท และเสถียรภาพของรัฐบาล ซึ่งปัจจัยเสี่ยงไม่เปลี่ยนไปมาก แต่เวลาที่มาแรงและน่าจับตามองคือ เสถียรภาพรัฐบาลหรือสถานการณ์ทางการเมืองจากการชุมนุม หากสถานการณ์ไม่ยืดเยื้อและไม่มีความรุนแรงก็คงไม่บานปลาย แต่หากบานปลายก็ต้องติดตามว่าเป็นไปในทิศทางไหน เพราะจะมีผลต่อเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของประเทศ”
ผลัก FDI เข้าเวียดนามเพิ่ม
นายสนั่น อังอุบลกุล รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และประธานสภาธุรกิจไทย-เวียดนาม กล่าวว่า สถานการณ์ทางการเมือง และเสถียรภาพของรัฐบาลในสายตานักลงทุนไทยและนักลงทุนต่างชาติต่างจับตามอง(wait and see) ด้วยความเป็นห่วงว่าผลจากการชุมนุมจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป และรอดูว่ารัฐบาลจะสามารถทำความเข้าใจ และเข้าถึงมวลชนกลุ่มนี้ได้อย่างไร เพราะจะใช้ความรุนแรงก็คงไม่ถูก สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาในเวลานี้คือนักลงทุนเสียความมั่นใจ ต่างชาติก็ไม่กล้าลงทุน คนในประเทศก็ไม่กล้าลงทุน จากในปัจจุบันธุรกิจก็ไม่ค่อยดีอยู่แล้วจากผลกระทบโควิด สภาพคล่องก็ไม่ค่อยดี ดังนั้นสถานการณ์เท่ากับซ้ำเติมประเทศ สิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการคือ สร้างความชัดเจนในเรื่องต่าง ๆ ที่ผู้ชุมนุมเรียกร้อง รวมถึงการปรับความเข้าใจและหาทางออกที่ดีที่สุด
“หากเราไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง คนที่ได้รับอานิสงส์คือเวียดนาม ที่การเมืองเขานิ่ง และได้สร้างแรงจูงใจให้คนไปลงทุน ทั้งมีวัน-สต๊อปเซอร์วิส และการอำนวยความสะดวกการลงทุนอย่างเต็มที่ มีแรงงาน และสิทธิประโยชน์มากมาย แต่ของไทยติดเรื่องการเมือง กฎหมายในหลายเรื่องในการอำนวยความสะดวกให้ทำธุรกิจได้ง่ายขึ้นยังล้าสมัยรอแก้ไข ทำให้เวลานี้ทั้งจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ไทย รวมถึงประเทศอื่น ๆ ได้เข้าไปลงทุนในเวียดนามเพิ่มขึ้น โดยในปีนี้คาดการส่งออกของไทยจะติดลบที่ 10% แต่ส่งออกของเวียดนามน่าจะบวก 5-6% โดยเวียดนามคาดจะส่งออกปีนี้ได้มูลค่ากว่า 2.78 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนไทยจะเหลือประมาณ 2.2 แสนล้านดอลลาร์”
1 ใน 5 ปัจจัยเสี่ยง
นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก กล่าวว่า ในแง่ผู้ส่งออก ปัจจัยเสี่ยง 5 อันดับแรกในเวลานี้ตามลำดับ ประกอบด้วย 1.ผลกระทบจากโควิด 2.สภาพคล่องของผู้ประกอบการ 3.อัตราแลกเปลี่ยน/ค่าเงินบาทที่ยังแข็งค่ากระทบต่อความสามารถในการแข่งขัน 4.สงครามการค้า และ 5.การเมืองที่ยังต้องจับตา หากมีความรุนแรงอาจกระทบด้านจิตวิทยาคู่ค้าหันไปนำเข้าจากประเทศอื่น ขณะที่การเมืองหากมีความไม่มั่นคงจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่จะเข้ามา ทั้งนี้เรื่องการเมืองยังต้องจับตา ซึ่งอาจส่งผลกระทบด้านยุทธศาสตร์การลงทุน ที่ต้องรอดูว่าต่างชาติเขาจะลงไปลงที่ไหน แต่เวลานี้ยังไม่กระทบส่งออก
อัทธ์ พิศาลวานิช
ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า เสถียรภาพทางการเมืองเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงของไทย นอกเหนือจากโควิด-19 ค่าเงินบาท และสงครามการค้า หากมีความไม่สงบและยืดเยื้อจะส่งผลกระทบซ้ำเติมเศรษฐกิจ การบริโภค และการลงทุน FDI ที่จะเข้ามา ซึ่งสถานการณ์หลังวันที่ 19 กันยายน ยังคาดเดาได้ยากว่าจะออกหน้าไหน และจะพัฒนาไปอย่างไร ต้องจับตาและประเมินสถานการณ์อีกครั้ง แต่การชุมนุมคงไม่จบแน่นอน และจะยังหลอนไปถึงสิ้นปี
จาก นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,611 วันที่ 20 - 23 กันยายน พ.ศ. 2563
ข่าวที่เกี่ยวข้อง