เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2563 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลบางกร่าง อำเภอเมืองนนทบุรี ตำบลบางเลน และตำบลบางม่วง อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ
และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงคมนาคมรับความเห็นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ครม.เคาะ “เวนคืนที่ดิน” ใน “สุรินทร์ - ชลบุรี” จุดไหนบ้าง เช็กได้ที่นี่
เช็กที่นี่ มติครม. เคาะ “เวนคืนที่ดิน" ขยายทางหลวงท้องถิ่น เขตพระนคร
ศาลปกครองสั่งกทม.ระงับเวนคืนที่สร้างถนนเลียบคลองประปา
ทุ่มงบ 377 ลบ. ลุยเวนคืนถนนผังเมืองรวมหนองคาย บูมทางคู่ “หนองคาย –แหลมฉบัง”
รถไฟฟ้า สายสีส้ม เจออีกดอก! ชาวบ้านร้อง เวนคืน ไม่เป็นธรรม
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา ระบุว่า กำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลบางกร่าง อำเภอเมืองนนทบุรี ตำบลบางเลน และตำบลบางม่วง อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี เพื่อสร้างทางหลวงชนบท ตามโครงการก่อสร้างถนนต่อเชื่อมสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณถนนนนทบุรี 1 (สะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์) กับถนนกาญจนาภิเษก
ทั้งนี้กระทรวงคมนาคมเสนอ ต่อที่ประชุมครม.ว่า
1. เนื่องจากปัจจุบันการจราจรในพื้นที่บนเส้นทางของถนนรัตนาธิเบศร์ ถนนนครอินทร์ ถนนราชพฤกษ์ ถนนกาญจนาภิเษก และจุดตัดทางแยกต่าง ๆ ในบริเวณใกล้เคียง มีสภาพติดขัดค่อนข้างมาก ซึ่งมีสาเหตุจากปริมาณรถส่วนหนึ่งต้องเดินทางผ่านถนนสายหลักเดิม เพื่อมุ่งสู่พื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร แต่เนื่องจากถนนสายหลักเดิมมีปริมาณการจราจรเกินความจุของถนนที่จะสามารถรองรับได้
จึงเป็นเหตุให้เกิดสภาพการจราจรติดขัดต่อเนื่องและสะสมเป็นบริเวณกว้าง ประกอบกับกรมทางหลวงชนบทได้ดำเนินการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณถนนนนทบุรี 1 (สะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์) เสร็จแล้ว ซึ่งจะก่อให้เกิดปริมาณจราจรเข้ามาใช้เส้นทางโดยรอบมากขึ้น
ดังนั้น เพื่อบรรเทาปัญหาสภาพการจราจรติดขัด และอำนวยความสะดวกและความรวดเร็วแก่การจราจรและการขนส่ง อันเป็นกิจการสาธารณูปโภค รวมถึงเพิ่มอัตราความเร็วเฉลี่ยในการเดินทางบนโครงข่ายถนนโดยรอบพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนถนนดังกล่าว รวมทั้งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายระบบคมนาคมระดับพื้นที่และภูมิภาค รองรับปริมาณจราจรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเนื่องจากการเจริญเติบโตของเมือง จึงจำเป็นต้องสร้างทางหลวงชนบท ตามโครงการก่อสร้างถนนต่อเชื่อมสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณถนนนนทบุรี 1 (สะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์) กับถนนกาญจนาภิเษก
2. กรมทางหลวงชนบทได้ดำเนินการสำรวจและออกแบบรายละเอียดโครงการก่อสร้างทางหลวงชนบท ตามโครงการก่อสร้างถนนต่อเชื่อมสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณถนนนนทบุรี 1 (สะพานมหาเจษฎา บดินทรานุสรณ์) กับถนนกาญจนาภิเษก และทำการศึกษาวิเคราะห์ความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจในการดำเนินโครงการ ซึ่งจากผลการวิเคราะห์พบว่า มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) มีค่า 1,152.23 ล้านบาท อัตราผลตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจ (EIRR) มีค่า 16.60% อัตราผลประโยชน์ต่อต้นทุน (B/C Ratio) มีค่า 1.45 ซึ่งถือได้ว่าโครงการดังกล่าวนี้มีความเหมาะสมในการดำเนินการ
3. การคาดการณ์ปริมาณการจราจรในอนาคต กรณีที่มีโครงการฯ กับกรณีที่ไม่มีโครงการฯ บนถนนโครงข่าย ผลการคาดการณ์พบว่า กรณีมีโครงการจะทำให้จำนวนของยานพาหนะ (Passenger Car Unit: PCU) ลดน้อยลง ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการจราจรที่ติดขัดในตัวเมือง ทำให้การเดินทางมีความสะดวกและรวดเร็วขึ้น ดังนี้
4. ลักษณะของโครงการสร้างทางหลวงชนบท ตามโครงการก่อสร้างถนนต่อเชื่อมสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณถนนนนทบุรี 1 (สะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์) กับถนนกาญจนาภิเษก เป็นถนนกำหนดให้ก่อสร้างใหม่ ขนาด 6 – 8 ช่องจราจร ช่องจราจรกว้างช่องละ 3.25 เมตร ชนิดผิวจราจรแอสฟัลติกคอนกรีต ทางเท้ากว้าง 3.75 เมตร เกาะกลางแบบยกกว้าง 3.00 เมตร เขตทางกว้าง 30.00 – 50.00 เมตร มีระยะทางประมาณ 3.827 กิโลเมตร มีที่ดินที่ถูกเวนคืนประมาณ 160 ไร่ จำนวน 340 แปลง มีอาคารและสิ่งปลูกสร้างที่ถูกเวนคืนประมาณ 220 รายการ ใช้งบประมาณในการดำเนินโครงการประมาณ 4,032.00 ล้านบาท (ค่าจ้างที่ปรึกษาสำรวจอสังหาริมทรัพย์ประมาณ 15.00 ล้านบาท ค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ประมาณ 2,396.00 ล้านบาท ค่าก่อสร้างประมาณ 1,621.00 ล้านบาท)
5. สำนักงบประมาณ (สงป.) พิจารณาแล้ว เห็นควรที่กรมทางหลวงชนบทจะเสนอร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลบางกร่าง อำเภอเมืองนนทบุรี ตำบลบางเลน และตำบลบางม่วง อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี พ.ศ. .... ต่อคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ การจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวจะต้องดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และตรวจสอบได้ โดยพิจารณาถึงประโยชน์ที่ทางราชการและประชาชนจะได้รับเป็นสำคัญ ซึ่ง สงป. จะพิจารณาจัดสรรงบประมาณให้กรมทางหลวงชนบทตามความจำเป็นและเหมาะสม ตามแผนการใช้จ่ายงบประมาณเมื่อร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับแล้ว
6. กรมทางหลวงชนบทได้ดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้ได้รับผลกระทบกับโครงการก่อสร้างทางหลวงชนบทสายดังกล่าว ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 แล้ว ซึ่งผลการรับฟังความคิดเห็นโดยรวมต่อโครงการมีผู้เห็นด้วย ร้อยละ 55.50
จึงได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลบางกร่าง อำเภอเมืองนนทบุรี ตำบลบางเลน และตำบลบางม่วง อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี พ.ศ. .... มาเพื่อดำเนินการ