เอกชนยังไม่กังวล รัฐประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน

15 ต.ค. 2563 | 08:56 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ต.ค. 2563 | 11:34 น.

เอกชนยังไม่กังวล รัฐประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ชี้เพิ่งประกาศวันนี้(15 ต.ค.)วันแรก ยังไม่ส่งกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศ หวังว่าสถานการณ์จะจบโดยเร็ว หวั่นกระทบภาพลักษณ์ของไทยในระยะยาว

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ถึง การที่รัฐบาลออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งวันนี้ (15 ต.ค.63) เป็นวันแรกนั้นเอกชนมองว่า ยังไม่สงผลกระทบที่รุนแรงต่อภาพรวมเศรษฐกิจ แต่ประกาศที่รัฐบาลประกาศออกมายังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมาก ซึ่งหากเป็นในอดีตอาจจะกระทบในเรื่องของการเดินทาง รวมถึงการลงทุนของต่างชาติ แต่เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้การเดินทางของนักท่องเที่ยว และนักลงทุนยังไม่สามารถเดินทางระหว่างประเทศได้ ดังนั้นยังไม่ส่งผลกระทบอะไรมาก

 

เอกชนยังไม่กังวล  รัฐประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน

                                         วิศิษฐ์  ลิ้มลือชา

 

แต่ทั้งนี้ เอกชนหวังว่าเหตุการณ์จะจบเร็ว ไม่ยืดเยื้อ และไม่มีความรุนแรง ก็ยังถือว่าปกติ เพราะประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกก็มีเหตุประท้วงรัฐบาลในลักษณะดังกล่าวเช่นกัน ดังนั้นคงต้องรอดูว่ารัฐบาลจะรับมืออย่างไรในระยะยาว จะมีวิธีการแก้ปัญหาอย่างไร หรือเดินหน้าอย่างไรที่จะไม่กระทบกับเศรษฐกิจในประเทศ เพราะทุกวันนี้ไทยพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก

 

“หากการประท้วงลากยาวหรือการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินลากยาวไปเป็นเดือนก็คงต้องมีการประเมินใหม่ เพราะตอนนี้ไทยเองพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก หากไม่กระทบกับเศรษฐกิจในประเทศก็ถือว่าไม่หนักมาก”

ด้านนายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการชุมนุม และการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตท้องที่กรุงเทพมหานครว่า หวังว่าจะสามารถจบได้ในเร็ววัน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศไทยว่าเป็นประเทศที่น่าเข้ามาท่องเที่ยว หรือลงทุนค้าขายด้วย เชื่อว่ารัฐบาลจะทำตามกฎหมาย เพราะทุกคนต้องเคารพกฎหมายอยู่ภายใต้กฎหมาย แต่ยอมรับว่าหลังจากมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร บรรดานักลงทุนต่างขาติก็มีความกังวลว่ายังสามารถดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ประชุมสัมมนากันได้หรือไม่ จะขัดกับกฎหมายหรือไม่ เพราะประกาศออกมาบางอย่างก็ยังไม่ชัดเจนว่าทำได้หรือไม่ได้อย่างไร  ซึ่งยอมรับว่าภาพข่าวที่ออกไปสู่ต่างประเทศส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประเทศซึ่งอาจเกิดความลังเลว่าจะเดินทางมาประเทศไทยหรือไม่ ต้องขอเวลาจับตาดูไปอีก 2-3 วันนี้ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไป

 

ด้านนางสาวกัณญภัค  ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ถึงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ว่า มองว่าหากมีการใช้ความรุนแรงระหว่างตำรวจ ทหาร และประชาชนจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประเทศ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่ไทยมีแผนจะเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งอาจทำให้นักท่องเที่ยวเปลี่ยนใจไม่เดินทางมาประเทศไทย เหมือนกับตอนที่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงที่ฮ่องกง ซึ่งก็หวังว่ารัฐบาลจะรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่มีความคิดเห็นที่แตกต่าง ไม่ใช้ความรุนแรง และเปิดทางให้มีการพูดคุย หาทางออกร่วมกันได้ ไม่อยากให้เกิดภาพออกมาแบบม็อบเสื้อเหลืองเสื้อแดง เพราะในทุกประเทศเรื่องการเดินขบวนประท้วงถือเป็นเรื่องที่ทำกันได้เพื่อแสดงความคิดเห็นว่าไม่เห็นด้วยกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น ฝรั่งเศส ก็มีการประท้วงประธานาธิบดี เป็นต้น

 

"มองว่ารัฐบาลไม่ควรจะบังคับไม่ให้ใครแสดงความคิดเห็นด้วยการออกมาสกัด เพราะเห็นว่ายิ่งบังคับ ยิ่งสกัดคนก็ยิ่งอยากออกมาแสดงความเห็นมากขึ้น ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลเปิดใจรับฟัง และหาทางออกร่วมกันกับประชาชนเพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศยังเดินหน้าต่อไปได้เพราะหากยังมีการชุมนุมและมีการใช้ความรุนแรงจะประทบต่อการใช้จ่ายในประเทศและการท่องเที่ยวของไทยอย่างแน่นอน ส่วนภาคการลงทุนต้องขอจับตาดูไปสักระยะว่าม็อบจะยืดเยื้อออกไปยาวนานแค่ไหน