“ข้าว-มัน-อัญมณี-การ์เมนต์” ดิ้นสู้ส่งออกทรุด

18 ต.ค. 2563 | 04:17 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ต.ค. 2563 | 11:39 น.

เอกชนดิ้นสู้ส่งออกทรุด ข้าว-มัน-อัญมณี-การ์เมนต์ ปรับแผนรุกตลาดในประเทศ ช่วยปั๊มยอดประคองธุรกิจสู้โควิด

สถานการณ์โควิด-19 ที่ยังระบาดทั่วโลก มีผู้ติดเชื้อเกือบ 40 ล้านคน และเสียชีวิตทะลุ 1.1 ล้านคนแล้ว(ณ 18 ต.ค.63)ซึ่งนอกจากกระทบชีวิตผู้คนแล้ว ที่สำคัญยังกระทบกับภาคการส่งออกของไทย เส้นลือดใหญ่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจประเทศ ที่ช่วง 8 เดือนแรกปี 2563 มูลค่าการส่งออกยังติดลบที่ 7.7% ส่งผลภาคธุรกิจส่งออกของไทยต้องเร่งปรับกลยุทธ์ และปรับแผนธุรกิจเพื่อช่วยสร้างรายได้ใหม่ ๆ ในการเพิ่มสภาพคล่อง และรักษาธุรกิจให้อยู่รอด

 

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ ประธานบริหาร บริษัท เอเชียน เพนนินซูล่า คอร์ปอเรชั่น จำกัด ในเครือฮ่วยชวนค้าข้าว เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า บริษัทได้หันไปเป็นเทรดเดอร์ซื้อข้าวจากเวียดนามที่มีคุณภาพและราคาถูกกว่าไทย โดยขายผ่านเบอร์นาร์ด (หน่วยงานจัดซื้อข้าวแห่งชาติของมาเลเซีย) เพื่อส่งต่อให้กับคู่ค้าขายส่งข้าวถุงในมาเลเซีย สามารถทำยอดขายได้ปีละ 4-5 หมื่นตัน ทำให้ยังสามารถประคองธุรกิจไปได้ ขณะที่ผู้ส่งออกข้าวของไทยและโรงสีบางส่วนได้หันไปผลิตข้าวสารบรรจุถุงขายในประเทศ (ตลาดข้าวถุงไทยมีมูลค่าประมาณปีละ 3 หมื่นล้านบาท) บางส่วนเลิกทำธุรกิจข้าว ประกาศขายเครื่องจักร ขายที่ดิน เพื่อไปทำอย่างอื่นมากขึ้น

 

“ข้าว-มัน-อัญมณี-การ์เมนต์” ดิ้นสู้ส่งออกทรุด

นายบุญชัย ศรีชัยยงพานิช นายกสมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย กล่าวว่า การส่งออกมันเส้นของไทยเริ่มกลับมาขยายตัวได้ดีขึ้น เฉพาะอย่างยิ่งจากจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่สุด แต่ผู้ประกอบการกว่า 120 รายที่เป็นสมาชิกของสมาคมยังมีปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิต จากผลกระทบภัยแล้งและโรคใบด่างในช่วงที่ผ่านมา และปัจจุบันยังมีฝนตกชุกทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เวลานี้ยังหยุดดำเนินการ เพราะเกรงผลผลิตเสียหาย และจะเปิดลานมันอีกครั้งประมาณเดือนพฤศจิกายน ระหว่างนี้ผู้ประกอบหลายรายได้หันไปรับซื้อข้าวโพด และกากมันสำปะหลังจากโรงงานแป้งมัน ส่งขายให้กับโรงงานอาหารสัตว์ และบางรายนำกากมันไปผลิตเป็นมันอัดเม็ดส่งออกไปยังเกาหลีใต้ หรือนิวซีแลนด์ เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์

 

ขณะที่นายกิตติศักดิ์ อุดมแดงอร่าม รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ และนายกสมาคมผู้ส่งออกเครื่องประดับเงินไทย กล่าวว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ)ช่วง 8 เดือนแรกปี 2563 ที่ยังติดลบ (-45%) ส่งผลกระทบต่อโรงงานผลิต แรงงาน และสภาพคล่องของธุรกิจอย่างมาก อย่างไรก็ดีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเพื่อส่งมอบในไตรมาสที่ 4 ปีนี้เริ่มกระเตื้องขึ้นมาบ้างแล้ว แต่ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ผลประกอบการของแต่ละบริษัทพลิกกลับมาเป็นบวกได้ ล่าสุดผู้ประกอบการเครื่องประดับเงินเตรียมจัดงานมหกรรมเครื่องประดับคุณภาพส่งออกจากผู้ผลิตซึ่งจัดเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยการรวมตัวของผู้ผลิตและส่งออกเครื่องประดับเงินเพื่อให้ผู้บริโภคได้ช้อปสินค้าคุณภาพส่งออกในราคาพิเศษ

 

“ข้าว-มัน-อัญมณี-การ์เมนต์” ดิ้นสู้ส่งออกทรุด

“งานนี้จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-25 ตุลาคม 2563 ณ โซน Central Court ชั้น 1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ มีโปรโมชั่น เช่น “ช้อป ปุ๊บ ลุ้น รับ” ลุ้นรับเซตเครื่องประดับ มูลค่ากว่า 4,000 บาท ทุกวันเมื่อซื้อสินค้าภายในงานครบ 1,000 บาท และผ่อนสบาย 0% สูงสุด 10 เดือน สำหรับบัตรเครดิตและร้านค้าที่ร่วมรายการ เป็นต้น ซึ่งนอกจากจะช่วยกระตุ้นการจับจ่ายแล้ว ยังช่วยกระตุ้นยอดขายของโรงงานผู้ผลิตเพื่อให้มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นด้วย”

 

“ข้าว-มัน-อัญมณี-การ์เมนต์” ดิ้นสู้ส่งออกทรุด

 

ด้านนายสุกิจ คงปิยาจารย์ กรรมการผู้จัดการ ฮงเส็งกรุ๊ป ผู้ผลิตและส่งออกเสื้อผ้ากีฬา กล่าวว่า จากคำสั่งซื้อและยอดขายของกลุ่มในปีนี้ที่ถือว่าต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่ทำธุรกิจมากว่า 30 ปีจากผลกระทบโควิด ล่าสุดทางกลุ่มอยู่ระหว่างการปรับแผนงาน จากที่เคยส่งออก 100% จะหันมารุกตลาดในประเทศสัดส่วนเริ่มต้นประมาณ 10% โดยอยู่ระหว่างการวางแผนงานในการพัฒนาเสื้อผ้ากีฬาและหน้ากากอนามัยที่ทำจากผ้าในแบรนด์ของตัวเองเพื่อจำหน่ายในประเทศ คาดจะเป็นรูปธรรมในเร็ว ๆ นี้

 

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจหน้า 1 ฉบับที่ 3619 วันที่ 18-21 ตุลาคม 2563

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สัญญาณบวกศก.-ส่งออก เอกชนชี้ Q4 เริ่มฟื้น

8เดือนส่งออกอัญมณีฯพุ่ง32.77% อานิสงส์ราคาตลาดโลกสูง

พายุซัดส่งออกน้ำตาล “เวียดนาม” แผลงฤทธิ์จ่อฟ้องไทย