กรณีประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ประกาศจะตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร(GSP) สินค้าไทยหลายรายการคิดเป็นมูลค่า 817 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 30 ธันวาคม 2563 ทั้งนี้หนึ่งในประเด็นสำคัญที่สหรัฐนำมาใช้เป็นข้ออ้างในการตัด GSP สินค้าไทยในครั้งนี้ ส่วนหนึ่งมาจากกรณีไทยยังไม่เปิดตลาดเนื้อสุกร หรือ “หมู” และเครื่องในจากสหรัฐฯ ที่ใช้สารเร่งเนื้อแดงแรคโตพามีนในการเลี้ยงให้กับสหรัฐฯนั้น
นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก เผยกับ “เศรษฐกิจ”ว่า การถูกตัดจีเอสพีอีกรอบในหลายสินค้าในครั้งนี้ย่อมมีผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทยในกลุ่มที่จะถูกตัด GSP (อาทิ ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องครัวอะลูมิเนียม หอยบางชนิด มะม่วง ผลิตภัณฑ์จากป่าไม้ อาหารอบแห้ง และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์บางประเภท เป็นต้น)แน่นอน เพราะจะทำให้ถูกเก็บภาษีนำเข้าสูงสุดตามอัตราปกติ ไม่ได้รับการลดหย่อน หรือไม่ถูกเก็บภาษีในอัตราต่ำเหมือนก่อนหน้านี้ ซึ่งจะทำให้สินค้าไทยเสียความสามารถในการแข่งขัน
“ถ้ามองในภาพรวมการจะถูกตัดสิทธิจีเอสพีในครั้งนี้ไม่กระทบภาพรวมส่งออกไทยไปสหรัฐฯมาก แต่ถ้ามองในแง่รายกลุ่มสินค้าที่จะถูกตัดสิทธิผู้ประกอบการคงได้รับผลกระทบแน่ จากอัตราภาษีนำเข้าของสหรัฐฯที่จะเก็บเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเรายังค่อนข้างแข็งค่ากระทบความสามารถในการแข่งขันเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว”
อย่างไรก็ดีการตัดจีเอสพีสินค้าไทยของสหรัฐฯ เคยเกิดขึ้นหลายครั้งในสินค้าหลายรายการแล้วก่อนหน้านี้ โดยอ้างเหตุผลแต่ละครั้งที่แตกต่างกัน เช่น ไทยมีการใช้แรงงานเด็ก แรงงานทาส และละเมิดสิทธิมนุษยชนไม่ให้แรงงานต่างด้าวตั้งสหภาพแรงงานได้ การมีส่วนแบ่งตลาดในสินค้าต่าง ๆ ในสหรัฐฯเกิน 50% เป็นต้น ซึ่งผู้ส่งออกรู้อยู่แล้วว่าไม่เร็วก็ช้าไทยต้องถูกสหรัฐฯตัดจีเอสพีไปเรื่อย ๆ หรืออาจยกเลิกการให้สิทธิในที่สุดโดยดูจากรายได้ต่อหัวของคนไทยในอนาคตเกินเกณฑ์ที่สหรัฐฯกำหนด ขณะที่การให้จีเอสพีของสหรัฐฯเป็นการให้ฝ่ายเดียว ไทยไม่สามารถไปยับยั้งไม่ให้ตัดสิทธิได้ แต่สามารถอุทธรณ์เพื่อให้สหรัฐฯคืนสิทธิได้ ซึ่งที่หลายครั้งที่ผ่านมาไทยก็สามารถยกเหตุผลจนสหรัฐฯคืนสิทธิจีเอสพีในหลายสินค้าได้
ขณะที่ปัจจุบันไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เกินดุลการค้าสหรัฐฯ มาก ติดต่อกันมาหลายปีและถูกจับตามอง และอาจถูกยกเป็นข้ออ้างในการตัดจีเอสพี หรือเพื่อใช้เป็นเหตุผลในการที่ต้องแลกเปลี่ยนกับผลปะโยชน์ทางการค้าของสหรัฐฯอ้างว่าเสียเปรียบไทยได้ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ดังนั้นสิ่งที่ภาคเอกชนต้องการจากรัฐบาลไทยคือ การเร่งเปิดเจรจาเพื่อทำความตกลงการค้าเสรี(FTA)ในกรอบใหม่ ๆ ที่ช่วยเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านการค้ากับประเทศคู่เจรจา เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน เช่น FTA ไทย-สหภาพยุโรป FTA-ไทย-อังกฤษ RCEP หรือ CPTPP
“เรื่องสหรัฐฯตัดจีเอสพี คงต้องรอดูผลเลือกตั้งสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายนนี้ว่าโดนัลด์ ทรัมป์ จะยังได้รับความไว้วางใจให้ดำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯเป็นสมัยที่ 2 ได้หรือไม่ แต่หากโจ ไบเดน ได้เป็นประธานาธิบดี คนใหม่ ไทยก็อาจมีลุ้นที่จะได้รับการทบทวนการถูกตัดจีเอสพี เพราะไบเดน และพรรคเดโมแครตสนับสนุนการค้าเสรี”
ข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร ช่วง 9 เดือนแรกปี 2563 การค้าไทย-สหรัฐฯมีมูลค่า 37,581 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 1.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยไทยส่งออกมูลค่า 25,358 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 7.3% และนำเข้ามูลค่า 12,224 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 8.2% โดยไทยยังเกินดุลการค้าสหรัฐฯ 13,134 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิดเบื้องลึก สหรัฐ ตัด GSP สินค้าไทย เหตุห้ามนำเข้าหมูใช้สารเร่งเนื้อแดง
พาณิชย์แถลงด่วน แจงปม สหรัฐ ตัดสิทธิ GSP สินค้าไทยเพิ่ม