ความคืบหน้าโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี2 ล่าสุด คณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ได้ออกประกาศคณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวเรื่องหลักเกณฑ์เงื่อนไขและวิธีการการดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2563/64 รอบที่ 1 ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ไปแล้ว ประกอบด้วย ข้าวเปลือกหอมมะลิ ได้ตันละ 2,911.17 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 2,137.45 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 1,222.36 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 1,066.96 บาท ข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 2,084.34 บาท ล่าสุด
แหล่งข่าว ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ในโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว งวดแรก เป็นชาวนาที่ปลูกข้าวตั้งแต่เดือนเมษายน ไล่ลงมา ซึ่งโดยปกติข้าวจะมีอายุ 120 วัน จะเริ่มเก็บเกี่ยวตั้งแต่กรกฎาคม เป็นต้นมา จนถึงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 ชาวนาที่เก็บเกี่ยวในช่วงนี้จะได้รับส่วนต่างชดเชยให้ซึ่งมีการประกาศไปเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะ ธ.ก.ส.จะโอนให้ในวันที่ 16 พ.ย.นี้ มีทั้งหมดกว่า 8 แสนราย จากทั้งหมดชาวนาที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร 4.5 ล้านราย วงเงินกว่า 9,000 ล้านบาท จากงบประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาท หากเทียบกับปีที่แล้วคาดว่าจะสามารถจ่ายได้เพียงพอ แต่สังเกตว่าราคาจะสลับต่างจากปีที่แล้ว ข้าวเปลือกเจ้า-ข้าวหอมปทุมธานี แต่ปีนี้ราคาจะหนักไปทางข้าวหอมมะลิ และข้าวเหนียวที่ชดเชยตันละกว่า 2,000 บาท น่าจะเป็นข่าวดีของเกษตรกรทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน)
ในส่วนเกษตรกรแจ้งผิดชนิดข้าว จะไม่สามารถเข้ามาในโครงการสินเชื่อชะลอข้าวเปลือกได้ เนื่องจาก ธ.ก.ส.จะต้องพิจารณาการขึ้นทะเบียนเกษตรกร ว่า เกษตรกรแจ้งปลูกเป็นข้าวชนิดอะไร เพราะการไปรับจำนำจะต้องมีทะเบียนเกษตรกร ด้วย สาเหตุอยากให้คนขึ้นทะเบียน เพราะจะได้ทราบจำนวนข้าว ชนิด ที่แท้จริงว่าประเทศไทยที่ปลูกเท่าไรกันแน่ จึงใช้การช่วยเหลือไปพ่วงกับระเบียบ ใครอยากรับการช่วยเหลือต้องไปขึ้นทะเบียนเกษตรกร ที่กรมส่งเสริมการเกษตร เพราะจะได้บริหารจัดการข้าวถูก แต่หากมีเกษตรกรไปแจ้งข้าวผิดชนิด เพื่อหวังที่จะได้รับเงินส่วนต่างการบริหารข้าวจะป่วนกันทั้งประเทศ และที่สำคัญเกษตรกรจะเสียสิทธิ์ในการเข้าโครงการจำนำยุ้งฉางด้วย ดังนั้น “ปลูกอะไร ให้แจ้งข้าวชนิดนั้น” เพราะการเข้าโครงการจำนำยุ้งฉาง ธ.ก.ส.ต้องตรวจข้าว แล้วถ้าแจ้งเป็นข้าวเปลือกเจ้า แต่ดันไปตรวจเป็นข้าวหอมมะลิ จะมาขอเปลี่ยนก็ไม่ได้ จะกลายเป็นแจ้งความเท็จเลย จะมีโทษตามกฎหมาย
ดังนั้นเกษตรกรจะต้องซื่อสัตย์ ธ.ก.ส.จะต้องใช้ข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรอ้างอิง แม้ว่าเกษตรกรจะไม่ถือสมุดทะเบียนเกษตรกรมา แต่จะมีข้อมูลออนไลน์ลิงค์ตรวจสอบจากทะเบียนกรมส่งเสริมการเกษตรส่งมาให้ในโครงการประกันรายได้ เพียงแค่กรอกเลขบัตรประจำตัวประชาชน ก็จะขึ้นมาทั้งหมด ชื่ออะไร ปลูกข้าวพันธุ์อะไร มีเนื้อที่เท่าไร ที่ดินตั้งอยู่ตรงไหน แปลงไหน ซึ่งปีนี้เปิดรับทุกภาคทั่วประเทศที่มียุ้งฉาง สามารถเข้าร่วมโครงการได้ทั้งหมด ทุกชนิดข้าว ยกตัวอย่างในหมู่บ้านเกษตรกร เกี่ยวกันเสร็จ พร้อมเมื่อไร เพราะต้องมีตากข้าว รวบรวมรายชื่อมาได้เลย ให้ไปแจ้งที่หน่วย ธ.ก.ส. เจ้าหน้าที่จะได้ออกไปทำให้คราวเดียวกัน ทั้งหมู่บ้านเลย ไม่ต้องวิ่งไปมาหลายรอบ ดังนั้น จึงขอประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว รายใดที่สนใจจะเข้าร่วมโครงการจำนำยุ้งฉาง หากต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถสอบถาม ธ.ก.ส.ใกล้บ้าน ตามเวลาราชการ
ข่าวเกี่ยวข้อง