นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ กรรมการแข่งขันทางการค้าและโฆษกคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า สำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า ในฐานะกรรมการเสียงข้างน้อยที่ไม่เห็นชอบในการอนุญาตให้รวมธุรกิจระหว่างบริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้น จำกัดและบริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า คณะกรรมการเสียงข้างน้อย 3คน ซึ่งมี นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธานบอดร์กขค. นางอร่ามศรี รุพันธ์ กรรมการแข่งขันทางการค้า ที่ไม่เห็นด้วยกับการอนุญาติให้ควบรวมกิจการ ทั้งนี้ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์มองว่าการควบรวมกิจการของซีพีค่อนข้างมีผลกระทบมากโดยแบ่งออกเป็น 4 ประเด็น ประกอบด้วย
1. การรวมธุรกิจในครั้งนี้จะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เนื่องจากการรวมธุรกิจมีโอกาสทำให้เกิดการผูกขาดหรือครอบงำทางเศรษฐกิจขึ้นได้ ทั้งนี้เพรา ผู้ขออนุญาตมีสถานะเป็นผู้ผลิตสินค้าสำคัญหลายประเภททั้งในส่วนของสินค้าเกษตรและสินค้าเกษตรแปรรูป สินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ในระดับสูงทุกรูปแบบการค้า ตั้งแต่ระดับค้าส่ง ค้าปลีกขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ซึ่งเป็นช่องทางการจำหน่ายสำคัญที่จะกระจายสินค้าไปสู่ผู้บริโภค ด้วยปัจจัยเหล่านี้จะทำให้ผู้ขออนุญาตมีอำนาจเหนือตลาดสูงมากจนสามารถครอบงำเศรษฐกิจการค้าของประเทศได้โดยง่ายและจะมีส่วนทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมมากยิ่งขึ้น
2. ผลกระทบต่อคู่แข่ง (Competitors) เนื่องจาก ผู้ขออนุญาตมีอำนาจเหนือตลาดและมีส่วนแบ่งตลาดทุกรูปแบบของการค้าส่งและค้าปลีก จะทำให้ผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นคู่แข่งทางธุรกิจหรือผู้ประกอบธุรกิจรายใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดจะยิ่งเข้าสู่ตลาดยากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย หรือเอสเอ็มอี แม้จะมีผลดีในระยะสั้น แต่หากผู้ประกอบธุรกิจรายใดไม่สามารถปรับตัวได้ก็อาจจะล้มตายไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งคู่แข่งที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ส่งผลให้ผู้บริโภคมีทางเลือกน้อยลงและอาจส่งผลให้ราคาสินค้าไม่หลากหลาย
3.นอกจากผลกระทบต่อคู่แข่งแล้ว ยังมีผลกระทบต่อผู้ผลิตสินค้าหรือวัตถุดิบ (Suppliers) เนื่องจากเป็นการรวมธุรกิจระหว่างผู้ประกอบธุรกิจร้านค้าปลีกสมัยใหม่รายใหญ่ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด ที่มีร้านจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคครบทุกรูปแบบ ทั้งร้านค้าส่ง ร้านไฮเปอร์มาร์เก็ต ร้านซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านค้าปลีกขนาดเล็ก ซึ่งผู้ขออนุญาตมีอำนาจเหนือตลาดและมีอำนาจต่อรองกับ Supplier มากยิ่งขึ้น
โดยเฉพาะผู้ผลิตที่เป็น SMEsที่อาจไม่มีอำนาจต่อรองมาก จึงมีโอกาสสูงที่จะถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างไม่เป็นธรรมในการกำหนดเงื่อนไขทางการค้า หรืออาจอยู่ในภาวะจำยอมที่จะต้องรับเงื่อนไขตามที่ผู้ขออนุญาตรวมธุรกิจเสนอโดยไม่มีข้อต่อรองเนื่องจากหากไม่ยินยอมดำเนินการในลักษณะดังกล่าวก็ไม่สามารถที่จะวางสินค้าจำหน่ายหรืออาจถูกปิดกั้นช่องทางการจำหน่ายและต้องล้มเลิกกิจการไปในที่สุด
4. ผลกระทบต่อผู้บริโภคโดยรวม แม้ว่าในระยะสั้นอาจไม่มีผลต่อผู้บริโภคทั้งในด้านราคาหรือสินค้าที่ แต่ในระยะยาวอาจมีผลต่อทางเลือกของผู้บริโภคทั้งชนิดสินค้าและระดับราคา อาจมีการกำหนดตามความต้องการหรือนโยบายของกลุ่มบริษัทที่เป็นของผู้ขออนุญาต นอกจากนี้ หากมีการลงทุนเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ในตลาดค้าส่งค้าปลีกซึ่งจะมีต้นทุนค่อนข้างสูง ผู้บริโภคอาจเป็นผู้ต้องรับภาระอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
“หากยอมให้มีการรวมธุรกิจดังกล่าวเกิดขึ้นแน่นอนว่าส่งผลเสียหายอย่างร้ายแรงต่อระบบเศรษฐกิจการค้าของประเทศ และมีผลทำให้โครงสร้างของตลาดค้าส่งค้าปลีกมีการกระจุกตัวในระดับสูงมาก ซึ่งจะนำไปสู่การครอบงำตลาดหรือการผูกขาดทางการค้าในที่สุด ซึ่งเป็นผลที่กรรมการเสียงข้างน้อยไม่อนุญาตให้รวมธุรกิจ เพราะ ในต่างประเทศเมื่อมีการรวมธุรกิจที่มีการกระจุกตัวมากขนาดนี้ จะมีการกำหนดมาตรการจากหนักไปเบา เช่น ไม่อนุญาต อนุญาตแต่มีเงื่อนไขด้านโครงสร้างประกอบกับด้านพฤติกรรม และเบาสุดเฉพาะมาตรการด้านพฤติกรรม (มติ กขค. เสียงส่วนใหญ่ใช้มาตการนี้)”
นายสันติชัยยังกล่าวต่อว่า กรรมการเสียงข้างน้อยมีการพิจารณาอย่างรอบคอบและคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก เพราะมองว่าหากมีการควบรวมกิจการจะมีความเสียหายและมีการกระจุกตัวในระดับสูงมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่คณะกรรมการเสียงข้างน้อยเป็นห่วง แต่ทั้งนี้ยืนยันว่าไม่กระทบการการลงทุนหรือตลาดหลักทรัพย์อย่างที่หลายฝ่ายกังวลกันแน่นอน