จากราคายางพาราในรอบ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้พุ่งสูงสุดในรอบ 3 ปี ไม่ว่าจะเป็นน้ำยางสดขยับสูงสุด ที่ 74.50 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ยางแผ่นดิบ 76.55 บาทต่อ กก. และยางแผ่นรมควัน 82.80 บาทต่อ กก. แล้วจู่ๆ ราคาก็ลดลงอย่างพรวดพราด โดยเฉลี่ยราคายางแต่ละชนิดปรับลดลงถึงปัจจุบัน 20-30 บาทต่อ กก. ทั้งเกษตรกร และราชการ ต่างฟันธงว่าเป็นพ่อค้าที่มากดและทุบราคาชาวสวนยาง โดยเฉพาะสมาคมน้ำยางข้นไทย ได้ตกเป็น “จำเลยสังคม” เพียงชั่วข้ามคืน
นายวรเทพ วงศาสุทธิกุล นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมน้ำยางข้นไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า วันนี้ต้องยอมรับว่า ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงพาณิชย์ โดยอธิบดีกรมการค้าภายใน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกลุ่มผู้นำเกษตรกร ทัวร์ลงที่บริษัทน้ำยางข้นทั้งหมด ซึ่งตนอยากจะชี้แจงเรื่องราคายางพาราที่ขึ้นลงว่า ผู้ประกอบการไม่มีพลัง ไม่มีอำนาจเงิน และไม่สามารถจะรวมกลุ่มทำอะไรแบบนี้ได้ เพราะต่างคนต่างทำธุรกิจ และการซื้อขายก็ปรับขึ้น-ลงตามราคาตลาดโลก
ทั้งนี้ได้มีการพูดคุยกับนายประพันธ์ บุณยเกียรติ ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (ประธานบอร์ด กยท.) ว่า ราคายางที่ขึ้นคาดจะเป็นช่วงระยะสั้นๆ จากความต้องการน้ำยางเพื่อใช้ในการผลิตถุงมือยางมีสูงช่วงโควิด ประกอบกับที่ผ่านมามีพายุเป็น 10 ลูก ติดต่อกัน ประเทศผู้ผลิตยางรายใหญ่ของโลกโดยเฉพาะไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม ต่างก็ได้รับผลกระทบจากพายุกันหมด ทำให้ผลผลิตยางออกมาน้อย นอกจากเจอพายุแล้ว ในส่วนของไทยยังมีปัญหาขาดแคลนแรงงานในการกรีดยาง จากแรงงานต่างด้าวกลับประเทศช่วงโควิด ดังนั้นความต้องการมีมาก ผลผลิตมีน้อยเป็นเหตุผลทำให้ราคายางพุ่งสูงขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เตือน “รง.น้ำยางข้น” อย่าบีบลงถนน (มีคลิป)
ราคายางพาราดิ่งนรก "สหกรณ์" ตายเรียบ
เปิดเล่ห์ 5 เสือ ทุบราคา “ยางก้อนถ้วย” ร่วง
ประกอบกับเวลานี้นักเก็งกำไรมีเงินมหาศาล สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป พิมพ์ธนบัตรออกมาไม่มีที่ไป ก็นำไปเก็งกำไรในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าทำให้ตลาดปั่นป่วน จากการสร้างดีมานด์เทียม พอทำกำไรได้แล้วก็ปล่อยราคาลงมา ถึงปัจจุบันคำนวณเป็นเงิน ราคายางตลาดล่วงหน้าปรับลดลงมา 20-30 บาทต่อกก. นี่คือ ข้อเท็จจริงที่ต้องยอมรับ ไทยประเทศเดียวคงไม่สามารถที่จะทำให้ราคายางขึ้นลงได้
“เมื่อราคากระชากขึ้นไป ผู้ผลิตถุงมือยาง ก็รับราคาและซื้อไม่ไหว ขณะที่เวลานี้การกู้เงินจากธนาคารก็ยังไม่ให้กู้เลย จะเอาเงินที่ไหนไปทำ ถ้าทำได้ทำไมจะต้องไปขอซอฟต์โลน จาก กยท. เป็นเงินประมาณ 4 หมื่นล้าน เพื่อเสริมสภาพคล่องในการซื้อยางทั้งระบบ”
ล่าสุดกรณีที่กระทรวงพาณิชย์ได้สั่งเช็กสต๊อกยางของผู้ประกอบการก็ไม่ได้ว่าอะไร แต่การมาควบคุมราคาสินค้า เพื่อไม่ให้ผู้บริโภคใช้ของแพงเกินไป และให้โรงงานช่วยซื้อวัตถุดิบจากเกษตรกรในราคาแพงๆ โรงงานจะทำอย่างไร เพราะต้นทุนวัตถุดิบขึ้น-ลงตามกลไกตลาด จะบังคับให้ซื้อแพงขายถูก มีที่ไหนในโลก ขณะที่กลไกตลาดเป็นระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายที่ยินยอมในราคาที่ตกลงกันได้ และไทยก็ไม่ใช่เป็นประเทศที่สามารถประกาศราคายางเองได้
“ถ้าทำแบบนี้จะทำลายระบบการค้าของยางพาราไป ทำให้ประเทศไทยตอนนี้ซึ่งเรามีโอกาสมากจากที่เราเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ สุดท้ายอาจจะเสียตลาดให้กับประเทศเกิดใหม่ไม่ว่าจะเป็นกัมพูชา เมียนมา ลาว และเวียดนาม ที่มีการปลูกยางเพิ่มขึ้น เป็นการทำลายอุตสาหกรรมภายในของเราเอง ปัจจุบันไทยเป็นผู้ผลิตน้ำยางข้นใหญ่อันดับ 1 คิดเป็น 80% ของโลก การทุบราคายางก็เหมือนทุบหม้อข้าวตัวเอง เราไม่ทำอยู่แล้ว ขออย่าให้โรงงานน้ำยางข้นกลายเป็นแพะเลย”
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจหน้า 9 ฉบับ 3627 วันที่ 15-18 พฤศจิกายน 2563