นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า BTS เปิดเผยว่า ในวันที่ 4 ธ.ค.นี้ บริษัทฯ จะครบรอบการดำเนินงาน 21 ปี ซึ่งนับตั้งแต่รถไฟฟ้าBTSเปิดให้บริการเที่ยวแรก เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 42 จนถึงเดือน พ.ย.63 ได้เปิดให้บริการผู้โดยสารครบ 3.5 พันล้านเที่ยวคน รวมระยะทางกว่า 104.38 ล้านกิโลเมตร(กม.) ขณะเดียวกันภายในเดือน ธ.ค.นี้ เตรียมเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต เพิ่มอีก 7 สถานี ได้แก่ สถานีพหลโยธิน 59, สายหยุด, สะพานใหม่, โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช, พิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศ, แยก คปอ. และคูคต ซึ่งจะทำให้เชื่อมโยงการเดินทางครอบคลุม 3 จังหวัด ได้แก่ ปทุมธานี กรุงเทพฯ สมุทรปราการ รวมระยะทางประมาณ 68 กม. และสามารถรองรับผู้โดยสารที่มาใช้บริการเพิ่มขึ้นมากกว่า 1.5 ล้านเที่ยวคนต่อวัน
“BTS เป็นผู้รับจ้างเดินรถ ดังนั้นการจะเปิดให้บริการส่วนต่อขยายอีก 7 สถานีในวันไหน และจะให้บริการฟรีหรือไม่ ต้องรอให้ทางกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นผู้พิจารณา ยอมรับว่าที่ผ่านมา BTS ได้ทำหนังสือแจ้งทวงถามเรื่องค่าจ้างเดินรถส่วนต่อขยายทั้งทางทิศเหนือ และทิศใต้ ประมาณ 8 พันล้านบาทไปยัง กทม.จริง ซึ่งหลังจากนี้หาก กทม.ให้เปิดเดินรถส่วนต่อขยายเพิ่มไปถึงคูคต ทาง BTS ก็ต้องเดินรถ แต่อาจต้องคำนวณค่าจ้างเดินรถใหม่ และแจ้งให้ กทม. ทราบเป็นระยะๆ ต่อไป”
อ่านข่าว ส่อง!! ค่าโดยสาร BTS - MRT ใครแพงกว่า?
อ่านข่าว ไขข้อข้องใจ ทำไม!! กทม.เตรียมหยุดเดินรถไฟฟ้า BTS “สายสีเขียว” ส่วนต่อขยาย
นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า ส่วนอัตราค่าโดยสารตลอดสายจะสามารถปรับลดให้ต่ำกว่า 65 บาทได้หรือไม่ ขอรอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเรื่องต่อสัญญาสัมปทานการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้ บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ต่อไปอีก 30 ปี จากเดิมสิ้นสุดสัญญาปี 2572 เป็นถึงปี 2602 ให้เสร็จสิ้นก่อน
ทั้งนี้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เคยศึกษาว่าราคาตลอดสายจะอยู่ที่ประมาณ 158 บาท ซึ่งเป็นราคาที่คิดค่าแรกเข้าส่วนต่อขยายหลายครั้ง แต่สำหรับของ กทม. ที่ให้เก็บไม่เกิน 65 บาท คิดค่าแรกเข้าเพียงครั้งเดียว ส่วนกรณีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปรียบเทียบค่าโดยสารระหว่างรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน กับรถไฟฟ้า BTS สายสีเขียว และระบุว่าสีน้ำเงินวิ่งไกลกว่าแต่เก็บค่าโดยสารถูกกว่านั้น ไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ เพราะนอกจากระยะทางการให้บริการจะแตกต่างกันแล้ว ค่าใช้จ่ายต่างๆ ก็แตกต่างกันด้วย โดยสายสีน้ำเงินรัฐลงทุนงานโยธาให้ทั้งหมด
อย่าไรก็ตามกรณีที่รถไฟฟ้าสายสีเขียวเอกชนต้องจ่ายหนี้ค่าก่อสร้างส่วนต่อขยายแทน กทม. ด้วยกว่า 6 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ BTS ยังต้องแบ่งรายได้ให้ กทม. ทุกปี อีกทั้งถ้าพิจารณาตารางค่าโดยสารของสายสีม่วงเมื่อรวมกับสายสีน้ำเงิน ในระยะทาง 60 กว่า กม.เท่ากันกับสายสีเขียว จะพบว่า ค่าโดยสารสายสีน้ำเงินและม่วงแพงกว่าสายสีเขียว