นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ อมตะ (AMATA) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 (Covid-19) ส่งผลทำให้ยอดขายโรงงานใหม่ของปีนี้ลดลงเหลือเพียง 10 กว่าโรงงานเท่านั้น จากเดิมที่ยอดเฉลี่ยของแต่ละปีในปัจจุบันจะอยู่ที่ประมาณ 30-40 โรงงาน โดยยอดขายสูงสุดที่สามารถทำได้อยู่ที่ 102 โรงงาน
ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญที่ต้องการให้ภาครัฐพิจารณาก็คือการลดระยะเวลาในการกักตัวจาก 14 วัน เหลือ 10 วันตามที่กระทรวงสาธารณสุขนำเสนอ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนจากต่างประเทศ โดยปัจจัยดังกล่าวเป็นประเด็นสำคัญต่อการลงทุนในประเทศไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากด้วยระยะเวลาในการกักตัวเป็นเวลา 14 วันทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศทำให้ภายในช่วงระยะเวลา 1 เดือนผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจลงทุนจะไม่สามารถทำธุรกรรมใดได้เลยเกี่ยวกับธุรกิจ จนส่งผลให้เกิดการชะลอการลงทุนลงไปในที่สุด
“แน่นอนว่าโรคระบาดนั้นน่ากลัว แต่ขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงด้วยว่าภาวะเศรษฐกิจเองก็น่ากลัวไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะตายด้วยโรคระบาด หรือตายด้วยเศรษฐกิจสุดท้ายก็คือตายเหมือนกัน ตนไม่ได้เสนอแนะเพียงแต่ต้องการให้ภาครัฐถอยหลังบางเรื่อง เพราะเพื่อนบ้านของไทยมีการผ่อนคลายเรื่องดังกล่าวพอสมควร”
สำหรับเป้าหมายยอดขายโรงงานใหม่ของอมตะปี 64 นั้น อมตะเองก็มองเป้าหมายไว้ที่ 30-40 โรงงานใหม่ เพียงแต่จะสามารถเป็นไปได้หรือไม่ ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยที่เข้ามาสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นประเด็นปัญหาเรื่องการเมืองในประเทศ รวมถึงการลดระยะเวลาในการกักตัวของผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ และการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้ประสบความสำเร็จ โดยจะทำให้เกิดการเดินทาง และทำให้เกิดการทำธุรกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น
“ต้องเรียนว่าเวลานี้นักลงทุนไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่ชะลอการลงทุน แต่ก็ยังมีความหวังว่าไม่ได้หนีหายไปไหน โดยปีหน้ามองว่าสถานการณ์ไม่น่าจะเลวร้ายกว่าปีนี้ ซึ่งค่อนข้างแย่ ซึ่งสิ่งที่ต้องการเห็นคือการที่ภาครัฐลดระยะเวลาในการกักตัว เพราะเข้าใจว่าบางประเทศโดยเฉพาะที่เป็นแนวทางการเปิดประเทศเพื่อการท่องเที่ยวอย่างจำกัด หรือทราเวลบับเบิ้ล (Traval Bubble) จะไม่ต้องมีการกักตัว เพราะฉะนั้น รัฐบาลก็น่าจะต้องมีการพิจารณากันใหม่ ขณะที่คำว่าประชาธิปไตยในความคิดเห็นส่วนตัวก็คือ สามารถประท้วงได้ เพราะหากประท้วงไม่ได้ก็คงไม่ใช่ประชาธิปไตย เพียงแต่ขอให้มีระเบียบ และอยู่ในกรอบกฎเกณฑ์ที่สามารถทำได้”
อย่างไรก็ดี หากถามว่าสัญญาณเศรษฐกิจมีการฟื้นตัวหรือไม่ในช่วงปลายปี เท่าที่ได้หารือกับเจ้าของโรงงานพบว่ามีการเพิ่มกำลังการผลิตมาเป็น 60-80% ในปัจจุบัน จากเดิมที่ลดลงเหลือเพียง 20-30% เท่านั้นในช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด