วันที่ 26 พฤศจิกายน 2563 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานกล่าวนโยบาย Gen Z to be CEO และพิธีลงนาม MOU ระหว่างกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และกระทรวงศึกษาธิการ (สถาบันการศึกษาต่างๆ 59 หน่วยงาน) ณ ห้องบุรฉัตรไชยากร ช้ัน 4 อาคาร สํานักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยมีดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมด้วย
นายจุรินทร์ กล่าวถึงเป้าหมายสำคัญของการลงนามบันทึกข้อตกลงในวันนี้ เกิดขึ้นภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจโลก ซึ่งมีความเปลี่ยนแปลง เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะชะลอตัว และเข้าสู่ภาวะหดตัว ร่วมกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน และภาวะโควิด-19 ที่เกิดขึ้น
ทั้งหมดนี้ส่งผลกระทบกับทุกประเทศในโลกรวมทั้งประเทศไทยด้วย แต่ประเทศไทยถือว่าทำได้ดีกว่าหลายประเทศในโลกโดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาโควิดซึ่งทั้งโลกยอมรับว่าไทยสามารถแก้ปัญหาได้ เป็นลำดับต้นของโลก แต่ปัญหาทางเศรษฐกิจก็ยังคงอยู่เพราะการค้ามีอุปสรรค รูปแบบการค้าจึงมีความจำเป็นที่ต้องปรับเปลี่ยน จากระบบออฟไลน์สู่รูปแบบออนไลน์ใช้อี-คอมเมิร์ซในการทำธุรกิจมากขึ้น รวมถึงพัฒนาเป็นรูปแบบผสมผสานทั้งออฟไลน์บวกออนไลน์เป็นระบบที่เรียกว่าไฮบริด มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจว่าต้องทำอย่างไร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เร่งปั้น CEO Gen Z 1.2 หมื่นราย ลุยค้าออนไลน์เพิ่มรายได้ประเทศ
นายจุรินทร์ กล่าวว่า รูปแบบการค้าอี-คอมเมิร์ซจะเป็นรูปแบบที่มีการพัฒนา ข้อตกลงทางการค้าใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นทั้งความตกลงการคาเสรี(FTA) ในระดับทวิภาคี หรือพหุภาคี เช่น RCEP ล้วนมีหัวข้อ-อีคอมเมิร์ซบรรจุอยู่เพื่อเป็นกติกาสำคัญสำหรับการค้าระหว่างประเทศ ที่จะกลายเป็น New Normal สำหรับการค้ายุคใหม่ สำหรับประเทศไทยผู้ประกอบการจำนวนมากปรับตัวไปสู่ระบบออนไลน์รวมถึงเกษตรกรที่ค้าออนไลน์เป็น และมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่กระทรวงพาณิชย์เห็นว่ามีศักยภาพเข้าสู่ระบบอี-คอมเมิร์ซได้คือน้อง ๆ Gen Z ที่มีอยู่ทั่วประเทศถึง 10 กว่าล้านคน ถึง 20% ของประชากรของประเทศจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และอาศัยอยู่ในภูมิภาค 85% กระจายอยู่ทุกพื้นที่ โครงการสำคัญของกระทรวงพาณิชย์ปั้น Gen Z เป็น CEO ถึงเกิดขึ้นเพื่อให้บรรลุฝันของเด็กรุ่นใหม่
"วันนี้ถือเป็นการเปิดศักราชสำคัญอีกครั้งหนึ่งของประเทศ เป็นความร่วมมือครั้งใหญ่ระหว่างกระทรวงพาณิชย์โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกับสถาบันการศึกษา 13 สถาบัน ประกอบด้วย 1.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี 3.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน 4.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี 5.มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง 6.วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล 7.มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา 8.มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี 9.มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 10. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 11.มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย 12.สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และ 13.สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาที่มีวิทยาลัยเกษตรเทคโนโลยี และประมงในสังกัดทั้งหมด 47 แห่งทั่วทั้งประเทศ
รวมแล้วเป็น 59 แห่งทั่วประเทศ และบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น (จำกัด)มหาชน จะช่วยในด้านเทคโนโลยีด้านการเรียนการสอน น้องๆทุกคนที่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการจะสามารถแปลงเวลาอบรมเป็นหน่วยกิตทางการเรียนได้ โดยขึ้นอยู่กับแต่ละสถาบันว่าจากกำหนดเป็นกี่หน่วยกิตและน้อง ๆ ทุกคนเมื่อผ่านการอบรมแล้วอนาคตถ้าไม่เปลี่ยนใจยังทำการค้าในระบบออนไลน์พวกเราทุกคนก็จะกลายเป็นทัพหน้าทางการค้าที่จะทำรายได้ให้กับตนเองและเป็นทัพหน้าในการนำรายได้เข้าประเทศ พัฒนาจนกลายเป็นผู้ส่งออกเพื่อสร้างเศรษฐกิจและความเข้มแข็งให้กับประเทศต่อไป โดยเราตั้งเป้าหมายว่าสร้างได้ไม่ต่ำกว่า 12,000 คน ภายในปี 2564 " นายจุรินทร์ กล่าว
รายงานจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศระบุว่า จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจปีล่าสุด ประชากรไทยมีทั้งหมด 66.5 ล้านคน เป็นกลุ่มคนเจเนอเรชั่นซีถึง 12.6 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 18.95 ของประชากรทั้งประเทศ นอกจากนั้น เจนซี ที่อยู่ในภูมิภาค นอกเหนือจากกรุงเทพฯและปริมณฑล มีมากถึง 10.6 ล้านคน หรือเกือบร้อยละ 85 ของเจนซีทั้งประเทศ และเพียงอีก 5 - 10 ปี ข้างหน้า คนเหล่านี้จะเป็นกลุ่มคนที่ใหญ่ที่สุด และจะเป็นหลักในการขับเคลื่อนประเทศไทยในอนาคต ด้วยเหตุนี้ กระทรวงพาณิชย์จึงมุ่งเน้นที่จะพัฒนาผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ๆ ให้เป็นผู้ประกอบการตั้งแต่อายุยังน้อย ภายใต้สโลแกนที่ว่า “กระทรวงพาณิชย์ ผลิต Gen Z เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย” เพราะเชื่อมั่นในศักยภาพของคนรุ่นใหม่ ที่หากได้รับการส่งเสริมสนับสนุนที่ถูกต้อง เหมาะสม และทันสมัย ก็จะสามารถพัฒนาต่อยอดธุรกิจให้กลายเป็นธุรกิจยุคใหม่ ที่จะสร้างรายได้ให้กับประเทศชาติได้อย่างแน่นอน จึงเป็นที่มาของพิธีการลงนาม MOU ในวันนี้
และงานในวันนี้ยังมีพาณิชย์จังหวัดจาก 47 จังหวัดเข้ามาร่วมในพิธีลงนาม MOU นี้ เพื่อรับทราบนโยบายและสามารถขับเคลื่อนการทำงานอย่างใกล้ชิดกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่ ในการสนับสนุนคนรุ่นใหม่ สร้าง Gen Z ในแต่ละพื้นที่ให้เป็น CEO เป็นผู้ประกอบการที่นำสินค้าและบริการในพื้นที่ออกมาขาย ต่อยอดนโยบาย “เซลส์แมนจังหวัด” ได้ต่อไปตลอดระยะเวลาที่ผมดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เราได้อบรมพัฒนาสร้างนักธุรกิจยุคใหม่ไปแล้ว 27,229 ราย และเราจะไม่หยุดอยู่แค่นั้น เราจะมุ่งหน้าสร้างนักธุรกิจเจนซีต่อไป เราพร้อมจะเดินเคียงข้าง และติดอาวุธทางความรู้ให้กับประชาชนและคนรุ่นใหม่ทุกท่าน เพื่อให้พวกเขามีศักยภาพมาช่วยเสริมทัพกับภาครัฐ เพื่อจับมือกันเพื่อฟันฝ่าวิกฤติของประเทศและโลกครั้งนี้ไปด้วยกัน