9 เดือนแรกปี 2563 ทุนไทยและต่างชาติมียอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอรวมทั้งสิ้น 1,098 โครงการ เพิ่มขึ้น 1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวน 1,088 โครงการ มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 223,720 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 15% ที่มีมูลค่ารวม 262,470 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นคำขอรับการส่งเสริมลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) จำนวน 657 โครงการ ลดลง 1% มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 118,504 ล้านบาทลดลง 29% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
คาดสิ้นปียอดขอส่งเสริม 3 แสนล้าน
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่ลดลงช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ เป็นผลจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้นักลงทุนรายใหม่ ๆ ไม่สามารถเดินทางเข้า-ออกประเทศได้โดยสะดวก รวมถึงโครงการส่วนใหญ่มีขนาดเล็กลง ซึ่งเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจ และการส่งออกทั่วโลกที่ชะลอตัวลง โดยเป้าหมาย FDI ที่จะขอรับการส่งเสริมในปี 2563 บีโอไอไม่มีตัวเลขเป็นการเฉพาะ แต่คาดว่ายอดคำขอรับการส่งเสริมทั้งปีนี้ทั้งไทยและต่างชาติรวมกันจะไม่ตํ่ากว่า 3 แสนล้านบาท (จากปี 2562 ทุนไทยและต่างชาติขอรับการส่งเสริม 1,624 โครงการ มูลค่า 756,104 ล้านบาท)
อย่างไรก็ดี จากนี้ไปรัฐบาลมีแนวโน้มผ่อนคลายข้อจำกัดในการเดินทางเข้า-ออกประเทศของกลุ่มนักธุรกิจมากขึ้น ขณะที่ประเทศปลายทางในโซนเอเชียหลายประเทศที่เป็นผู้ลงทุนหลักก็เริ่มผ่อนคลายเช่นเดียวกัน จึงเชื่อว่าจะได้เห็นการลงทุนของรายใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นมากในช่วงปีหน้าเป็นต้นไป
ลุ้นวัคซีนดันปี 64 ฟื้น
“ปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อ FDI ในปีหน้า ยังคงเป็นเรื่องของสถานการณ์โควิดว่าจะบรรเทาหรือสามารถผลิตวัคซีนได้เร็วแค่ไหน และแต่ละประเทศจะสามารถเปิดประตูให้นักธุรกิจเดินทางเข้า-ออกได้สะดวกมากน้อยเพียงใด เพราะโดยปกติถ้าเป็นโครงการใหม่ ๆ ผู้บริหารระดับสูงจำเป็นต้องเดินทางมาดูกิจการ ดูสถานที่ตั้งโรงงาน หรือเจรจากับพาร์ทเนอร์ด้วยตัวเองก่อนตัดสินใจขั้นสุดท้าย ซึ่งกลุ่มนี้จะเดินทางมาในระยะสั้นและไม่สามารถใช้เวลากักตัวได้นานทั้งขามา-ขากลับ ถ้าสถานการณ์ตรงนี้ผ่อนคลายมากขึ้น จะส่งผลบวกอย่างมากต่อการลงทุนที่จะไหลเข้ามาประเทศไทย”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ม็อบยื้อกระทบ FDI ไหลเข้า ญี่ปุ่นขอคำตอบไทยร่วม CPTPP
จุดแข็งไทยและจุดขายใหม่
สำหรับจุดแข็งของประเทศไทยคือมีปัจจัยพื้นฐานที่ดี เมื่อเร็วๆ นี้ US News เพิ่งประกาศผลการจัดอันดับให้ไทยเป็นประเทศที่ดีที่สุดอันดับ 1 ในการเริ่มต้นธุรกิจ (จาก 73 ประเทศ) และเป็นประเทศที่น่าลงทุนอันดับ 2 ของโลก (รองจากโครเอเชีย) โดยไทยมีจุดแข็งที่มีความได้เปรียบคู่แข่งหลายด้าน เช่น มีที่ตั้งอยู่ศูนย์กลางของภูมิภาค และมีโครงข่ายคมนาคมที่สามารถเชื่อมโยงไปยังตลาดที่มีการเติบโตสูงใน CLMV มีความสัมพันธ์ที่ดีกับนานาประเทศ โครงสร้างพื้นฐานของไทยมีคุณภาพสูง โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่เป็นแหล่งรองรับอุตสาหกรรมสำคัญ อีกทั้งประเทศไทยมีซัพพลายเชนที่ครบวงจร มีบุคลากรคุณภาพสูง มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการทำธุรกิจ และยังมีสิทธิประโยชน์ที่จูงใจจากบีโอไอ
นอกจากนี้ยังมีจุดขายใหม่จากการที่ประเทศไทยได้รับการยอมรับจากนานาชาติว่ามีมาตรฐานด้านการแพทย์ที่ดี สามารถควบคุมโควิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ สะท้อนถึงการเป็นประเทศที่มีความมั่นคงปลอดภัย ความเสี่ยงตํ่า และมีความยืดหยุ่นสูงในการปรับตัวเพื่อรับมือกับวิกฤติ เหมาะกับการเข้ามาทำงาน มาอยู่อาศัย และลงทุนในระยะยาว จึงเชื่อมั่นว่าหลังวิกฤติโควิด ไทยจะเป็นที่หมายตาของทั้งนักลงทุนและผู้เชี่ยวชาญต่างชาติ ซึ่งกลยุทธ์ของบีโอไอจากนี้ไปจะไม่เพียงแค่ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนเท่านั้น แต่จะให้ความสำคัญกับการดึงดูดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถสูงจากทั่วโลก รวมทั้งกลุ่มสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพให้เข้ามาอยู่ในไทยและช่วยพัฒนาประเทศ โดยใช้เครื่องมือดึงดูดผ่านมาตรการ Smart Visa
สำหรับมาตรการ Smart Visa คือ วีซ่าชนิดพิเศษที่กำหนดมาเพื่อดึงดูดบุคลากรต่างชาติใน 4 กลุ่มที่ประสงค์จะเข้ามาทำงานหรือลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญทักษะสูง (Smart “T” Talents) นักลงทุน (Smart “I” Investors) ผู้บริหารระดับสูง (Smart “E” Executives) และสตาร์ทอัพ (Smart “S” Startup) แต่ละกลุ่มมีหลักเกณฑ์แตกต่างกัน ประโยชน์ที่ได้รับ เช่น ระยะเวลาวีซ่าสูงสุด 4 ปี การรายงานตัวต่อ ตม. ขยายจากเดิมทุก 90 วันเป็นทุก 1 ปี สามารถเดินทางเข้าออกประเทศได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง และสามารถทำงานได้โดยไม่ต้องขอใบอนุญาตทำงาน
“Smart Visa เริ่มใช้มาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2561 นับจนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2563 มีผู้ได้รับการรับรอง Smart Visa แล้วจำนวน 468 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสตาร์ทอัพในธุรกิจดิจิทัล ในแง่สัญชาติส่วนใหญ่เป็นสหรัฐอเมริกา รองลงมาเป็นเยอรมนี อังกฤษ ญี่ปุ่น และฝรั่งเศส”
จับตาสหรัฐฯร่วม CPTPP กระทบลงทุน
นายนฤตม์ กล่าวถึง ประเด็นเรื่อง CPTPP ว่า หากรัฐบาลชุดใหม่ของสหรัฐฯ กลับมาให้ความสำคัญกับ CPTPP อีกครั้ง จะส่งผลต่อทิศทางการค้าและการลงทุนของโลก ถึงแม้ไทยจะเป็นส่วนหนึ่งของ RCEP ที่เป็นกรอบการค้าเสรีที่ใหญ่สุดในโลกแล้วก็ตาม แต่คงต้องมีความชัดเจนในเรื่อง CPTPP ด้วย เพราะการที่คู่แข่งในอาเซียน ทั้งมาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม ล้วนเข้าเป็นสมาชิก CPTPP แล้ว อาจมีผลต่อการตัดสินใจลงทุนของบริษัทข้ามชาติได้
นอกจากนี้ จากแนวโน้มที่สหรัฐฯ อาจบังคับใช้มาตรฐานต่าง ๆ อย่างเข้มงวด ทั้งมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม แรงงาน สิทธิมนุษยชน และทรัพย์สินทางปัญญา อาจทำให้ไทยต้องคำนึงถึงประเด็นเหล่านี้ในการกำหนดกฎกติกาหรือมาตรการสนับสนุนด้านการค้าการลงทุนต่าง ๆ มากขึ้น ซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า 9 ฉบับที่ 3630 วันที่ 26-28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563