วันที่ 27 พฤศจิกายน 2563 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์ KICK OFF จ่ายเงินส่วนต่างโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2563/2564 หรือประกันรายได้ข้าวโพดปี 2 และมอบแคชเชียร์เช็คจํานวน 4 รายและโฉนดที่ดินให้แก่เกษตรกร จํานวน 10 ราย ณ ศูนย์ประชุมและแสดงศิลปวัฒนธรรมล้านนาตะวันออกและกลุ่มประเทศ GMS ตําบลทุ่งโฮ้ง อําเภอเมือง จังหวัดแพร่ โดยมีนางศิริวรรณ ปราศจากศัตรู สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ และคณะเข้าร่วมด้วย
นายจุรินทร์ กล่าวว่า ประกันรายได้เป็นความรับผิดชอบของกระทรวงพาณิชย์กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยข้าว มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพดและยางพารา นโยบายประกันรายได้เกษตรกรเป็นนโยบายของรัฐบาลได้ดำเนินการมาแล้ว 1 ปีเต็มปีนี้ย่างเข้าสู่ปีที่ 2 โดยเกษตรกรได้รับหลักประกัน คือข้อดีของนโยบายประกันรายได้คือแม้ในยามที่พืชเกษตรตกต่ำก็ยังมีรายได้ที่รัฐบาลประกันให้ และปีนี้มาถึงจุดที่รัฐบาลได้ประกันรายได้เกษตร 5 ตัวคือ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์ม ข้าวโพดเข้าสู่ปีที่ 2 และกำลังเริ่มต้น KICK OFF เริ่มนับหนึ่งที่จะพิจารณาจ่ายเงินส่วนต่าง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สภาเกษตรกรแห่งชาติ ชง ประกันรายได้ “สับปะรด” 7 บาท/กก.
แกนนำเกษตรกร ลั่น เลื่อนจ่ายจนกว่า “บัตรสีชมพู” จะได้เข้าร่วม "ประกันรายได้ยางพารา"
เช็กที่นี่เปิด 4 ขั้นตอนง่ายๆ ตรวจสอบเงินประกันรายได้สวนยางพารา |
ธ.ก.ส.พร้อมโอนเงินประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ดีเดย์ 1ธ.ค.
สำหรับปีนี้นั้น ข้าวเริ่มจ่ายส่วนต่างแล้วงวดที่ 1 จ่ายเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 จะจ่ายทุกสัปดาห์และเริ่มจ่ายหลังจากเก็บเกี่ยวตามเวลาเก็บเกี่ยวที่ไปแจ้ง สำหรับข้าวโพดประกันรายได้กิโลกรัมละ 8.50 บาทที่ความชื้น 14.5% งวดแรกจ่ายวันที่ 20 พฤศจิกายน 2563 งวดต่อไปจะจ่ายทุกเดือน ส่วนยางพารานั้นยางแผ่นชั้น 3 กิโลกรัมละ 60 บาท น้ำยางข้นกิโลกรัมละ 57 บาทและยางก้อนถ้วยกิโลกรัมละ 23 บาท ด้านมันสำปะหลัง ประกันกิโลกรัมละ 2.50 บาท โดยจ่ายทุกเดือน 12 งวด งวดแรกจะจ่ายวันที่ 1 ธันวาคม2563 ที่จะถึงนี้ ด้านปาล์มน้ำมัน ประกันกิโลกรัมละ 4 บาท แต่ขณะนี้ราคาตลาดสูงกิโลกรัมละ 6-7 บาท จากมาตรการของกระทรวงพาณิชย์ที่ช่วยเหลือทำให้ปาล์มราคาดีขึ้น
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวอีกว่า สำหรับกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร วันนี้สมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ที่ตั้งมาตั้งแต่ปี 2542 ในรัฐบาลชวน 2 (ชวน หลีกภัย) เพื่อช่วยแก้ปัญหาหนี้สินให้กับเกษตรกร ซึ่งวันนี้ตนได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) ให้เป็นประธานคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร งานคือช่วยเหลือเกษตรกร อย่างไรก็ตามเกษตรกรรายย่อยที่เป็นหนี้โดยไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่ใช้บุคคลค้ำประกันนั้นก่อนหน้านี้กองทุนฟื้นฟูไม่สามารถเข้าไปแก้ปัญหาได้เนื่องจากติดข้อกฎหมาย
"วันนี้ผมเข้ามาแก้กฎหมายจบแล้วมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2563 ต่อไปนี้กองทุนฟื้นฟูสามารถแก้ปัญหาหนี้ให้เกษตรกรที่ใช้บุคคลค้ำประกันและเป็นหนี้สินส่วนใหญ่เป็นรายย่อยทั้งประเทศกว่า 400,000 ราย ตอนนี้เข้าไปช่วยเหลือได้ถึง 165,000 รายแล้ว โดยเกษตรกรที่กำลังจะถูกดำเนินคดีเพราะไปเป็นหนี้สถาบันการเงินหรือหนี้นายทุนโอนหนี้มาเป็นของกองทุนฟื้นแทน ทางกองทุนฟื้นฟูก็จะไม่ฟ้องร้องดำเนินคดีจนกว่าจะผ่อนชำระหมดและไม่ยึดที่ดินมาเป็นหนี้กองทุนฟื้นฟูแล้วผ่อนชำระกองทุนฟื้นฟูด้วยดอกเบี้ยพิเศษ 1% เมื่อผ่อนหมดแล้วกองทุนฟื้นฟูจะคืนโฉนดให้ และวันนี้มามอบโฉนดคืนให้ทั้งหมด 10 ราย นี่เฉพาะจังหวัดแพร่นะครับแต่ที่มาช่วยจัดการเรื่องนี้มีด้วยกันทั้งหมด 242 ราย และจะซื้อหนี้อีก 2,582 ราย รวมแล้วมาช่วยจัดการปัญหาหนี้และให้ผ่อนชำระกับกองทุนฟื้นฟูทั้งหมดเกือบ 3,000 ราย " นายจุรินทร์ กล่าว