ความคืบหน้าโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2 วงเงินรวมทั้งสิ้น 10,042,820,489.28 บาทตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ จำนวนเกษตรกรชาวสวนยาง 1.8 ล้านราย โดยผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 โดยจะดำเนินการจ่ายเงินส่วนต่างราคายางเป็นระยะเวลาทั้งสิ้น 6 เดือน เริ่มตั้งแต่ เดือนตุลาคม 2563 ถึง เดือนมีนาคม 2564 แต่การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และ ธ.ก.ส. ยังไม่สามารถโอนเงินส่วนต่างครั้งที่ 1 ได้ภายในเดือนพฤศจิกายนตามกำหนดเวลา เนื่องจากสำนักงบประมาณติดขัดประเด็นเรื่องเกษตรกรชาวสวนยางกลุ่มบัตรสีชมพู นั้น
วันที่ 2 ธันวาคม 2563 นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เผยว่า ล่าสุด นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้หารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จนเป็นที่ยุติให้ดำเนินการเช่นเดียวกับโครงการประกันรายได้ระยะที่ 1 คือ เกษตรกรชาวสวนยางทั้ง "บัตรสีเขียว" และ "บัตรสีชมพู" ที่ขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และ ผ่านการตรวจสอบรับรองเรียบร้อยจะได้เข้าร่วมโครงการประกันรายได้ระยะที่ 2 ทุกคน โดยนายกรัฐมนตรีได้แจ้งผลการหารือต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวานนี้ (1 ธ.ค) และให้ กยท. มีหนังสือประสานไปยังสำนักงบประมาณเพื่อจะสามารถจ่ายเงินส่วนต่างให้เกษตรกรชาวสวนยางต่อไป
“กยท. จะมีหนังสือถึงสำนักงบประมาณภายในสัปดาห์นี้ พร้อมกับส่งรายชื่อเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนที่ผ่านการตรวจสอบแล้วให้กับ ธ.ก.ส. ชุดแรก โดยพร้อมโอนเงินส่วนต่างครั้งที่ 1 ภายในสัปดาห์หน้า ถือเป็น "ของขวัญส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่" จากรัฐบาล และในเดือนมกราคมปีหน้าก็จะโอนจ่ายสำหรับงวดต่อไปจนครบ 6 งวด 6 เดือน ตามกรอบโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางระยะที่ 2”
นายอลงกรณ์ กล่าวว่า โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางเป็นมาตรการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางในการประกันความเสี่ยงด้านรายได้ในภาวะที่ราคายางมีความผันผวน โดยมีวัตถุประสงค์1. เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนยาง ในกรณีที่ราคายางตกต่ำ ในช่วงวิกฤติการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) 2. เพื่อเพิ่มรายได้และสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง โดยมีเป้าหมายช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย และแจ้งข้อมูลพื้นที่ปลูกยางกับการยางแห่งประเทศไทย จำนวน 1.8 ล้านรายทั้งเกษตรกรชาวสวนยางและคนกรีดยาง โดยมีหลักเกณฑ์และข้อกำหนด ดังนี้
ราคายางที่ใช้ประกันรายได้แต่ละชนิด (บาท/กิโลกรัม) ได้แก่ 1. ยางแผ่นดิบคุณภาพดี 60.00 บาท/กิโลกรัมราคากลางอ้างอิง อยู่ 62.60 บาท ไม่ต้องจ่ายชดเชยส่วนต่างประกันรายได้ 2.น้ำยางสด ราคาอ้างอิง 52.86 ชดเชย 4.14 บาท/กก. คิดเป็นเงินค่าประกันรายได้ 534.07 ล้านบาท 3.ยางก้อนถ้วย ราคาอ้างอิง 19.09 ชดเชย 3.91 บาท/กก. คิดเป็นเงินค่าประกัน 1,582.88 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้นที่จะต้องจ่าย 2,116.95 ล้านบาท
ด้านนายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” กยท. ได้ส่งรายชื่อในส่วนของเกษตรกรที่ผ่านการเข้าร่วมโครงการประกันรายได้ ระยะที่ 1 และมีคุณสมบัติครบถ้วน (ขึ้นทะเบียนก่อน 12 สิงหาคม 2562) เมื่อโครงการฯ ระยะที่ 2 เริ่มอนุมัติจ่ายเงินประกันรายได้ จะสามารถจ่ายเงินเข้าบัญชีได้ทันที ยกเว้นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเพิ่มเติมตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม 2562 แต่ไม่เกิน 15 พฤษภาคม 2563
กยท. จะเข้าตรวจสอบข้อมูลพื้นที่ปลูกยางเพิ่มเติมโดยเร็วที่สุด เพื่อส่งข้อมูลการจ่ายเงินส่วนต่างประกันรายได้ตามโครงการฯ ให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อจ่ายเงินเข้าบัญชีเกษตรกรโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ต้องเปิดบัญชีออมทรัพย์กับธนาคาร ธ.ก.ส. โดยเป็นบัญชีที่เป็นชื่อตนเองเท่านั้น ห้ามเป็นบัญชีเปิดร่วมหรือเปิดเพื่อบุคคลอื่นๆ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการโอนเงินเข้าผิดบัญชี
ดังนั้นขอให้ชาวสวนยาง ตรวจสอบสิทธิ์ ผ่านเว็บไซต์ http://www.rubber.co.th/gir/index/ เบื้องต้นก่อน หากสงสัย หรือไม่พบข้อมูลการขึ้นทะเบียน สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ กยท. สำนักงานใหญ่ กยท.จังหวัด / กยท. สาขา ทั่วประเทศ หาก ตรวจสอบสถานะการโอนเงินประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกยางพารา แบบอัพเดทได้ตลอด 24 ชั่วโมงที่ https://chongkho.inbaac.com/
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“ประกันรายได้ยางพารา” จบไม่ลง ยังไร้ข้อสรุป
เครือข่ายฯ กยท. ลุกทวงสิทธิ์ “บัตรสีชมพู” ร่วม “ประกันรายได้ยางพารา" (มีคลิป)
ลุ้น 30 พ.ย.นี้ "บัตรสีชมพู" จะได้เข้าร่วมวง ประกันรายได้ยางพารา หรือไม่
เคลียร์ชัด แจ้งเลื่อนจ่าย “ประกันรายได้ยางพารา” งวด1 อย่างเป็นทางการ