นางสาวซ่อนกลิ่น พลอยมี ที่ปรึกษาด้านการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ “บีโอไอ” (BOI) เปิดเผยถึงผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติในประเทศไทย ประจำปี 63 จาการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 600 บริษัท พบว่าผู้ตอบแบบสำรวจ 96% มีแผนการลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง โดย 76.67% ยังคงรักษาระดับการลงทุน ในขณะที่ 19.33% มีแผนจะขยายการลงทุนเพิ่มเติม แม้จะอยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 (Covid-19)
ทั้งนี้ ปัจจัยหลักที่ทำให้นักลงทุนตัดสินใจขยายหรือรักษาระดับการลงทุนในประเทศไทยนั้น พบว่าอันดับแรก คือการมีสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนที่กระตุ้นให้ลงทุนในประเทศไทย อันดับสอง มีวัตถุดิบและชิ้นส่วน และอันดับสาม คือมีความพร้อมของอุตสาหกรรมสนับสนุน
สำหรับผลสำรวจนักลงทุนถึงผลกระทบจากโควิด-19 พบว่า 63.17% นั้น ธุรกิจได้รับผลกระทบแต่ยังสามารถดำเนินธุรกิจได้ 29.17% ธุรกิจได้รับผลกระทบอย่างมาก แต่ยังสามารถดำเนินธุรกิจได้ 7.5% ธุรกิจไม่ได้รับผลกระทบ สามารถดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ มีเพียง 0.17% หยุดการดำเนินธุรกิจ
“แม้สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 จะส่งผลกระทบไปทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย แต่นักลงทุนยังมีแผนขยายการลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยนักลงทุนมีความเห็นว่าประเทศไทยมีปัจจัยเอื้ออำนวยหลายด้าน ทั้งวัตถุดิบและชิ้นส่วนที่เพียงพอ มีบริการด้านการสื่อสาร ระบบขนส่งและโลจิสติกส์ รวมทั้งสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่มีผลต่อการตัดสินใจลงทุน”
อย่างไรก็ดี มาตรการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอที่นักลงทุนใช้และคาดว่าจะใช้มากที่สุด คือ มาตรการบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ประมาณ 44.86% อันดับสอง คือมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต 37.74% และอันดับสาม คือมาตรการกระตุ้นการลงทุน 31.45%
ขณะที่ผลการสำรวจความพึงพอใจต่อการบริการของบีโอไอ พบว่านักลงทุนต่างชาติมีความพึงพอใจค่อนข้างมากเกือบทุกด้าน รวมทั้งนักลงทุนต่างชาติส่วนใหญ่รับทราบถึงการให้บริการของบีโอไอผ่านระบบออนไลน์ โดยบริการที่ใช้มากที่สุด 75.94% คือระบบรายงานผลประกอบการและรายงานความคืบหน้าของโครงการ รองลงมา คือระบบตรวจสอบสถานภาพเอกสารทางอินเทอร์เน็ต และการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์สำหรับงานสิทธิประโยชน์ด้านวัตถุดิบ
“นักลงทุนมีความเห็นเพิ่มเติมว่ารัฐบาลไทย รวมทั้งบีโอไอควรมีการดำเนินการต่างๆ เพื่อสร้างบรรยากาศการลงทุนให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น การปรับปรุงระบบราชการให้มีประสิทธิภาพ การยกเลิกใบอนุญาตหรือกระบวนการต่างๆ ที่ไม่จำเป็น การมีแนวทางการรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ที่ชัดเจน เป็นต้น”