ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ปริมาณฝนภาพรวมในระยะ 3 เดือนต่อจากนี้ เดือนธันวาคม 2563 -กุมภาพันธ์ ปี2564 "ภาคใต้" จะมีฝนมากกว่าค่าปกติประมาณ 20% แบ่งเป็น ภาคใต้ฝั่งตะวันออก ประมาณ 350-530 มิลลิเมตร (ค่าปกติ 368 มม.) ภาคใต้ฝั่งตะวันตก ประมาณ 100-210 มิลลิเมตร (ค่าปกติ 129 มม.) ซึ่งต้องการติดตาม เฝ้าระวัง ฝนตกหนักถึงหนักมาก น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก เตรียมแผนป้องกันผลกระทบอย่างต่อเนื่องด้วย โดยเฉพาะในพื้นที่ที่น้ำท่วมในปัจจุบันด้วย
ส่วนสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ขณะนี้ว่า จากอิทธิพลมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศมาเลเซีย ส่งผลให้บริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออกมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ ทำให้เกิดสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก ดินสไลด์และวาตภัย ตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ปัจจุบันคงเหลือพื้นที่ประสบปัญหาอุทกภัยใน 7 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส รวม 62 อำเภอ 323 ตำบล 2,186 หมู่บ้าน ซึ่งขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ได้เร่งให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ
ควบคู่ไปกับการเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมขังโดยเร็ว ซึ่งจากการติดตามภาพถ่ายดาวเทียมของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ Gistda เมื่อเทียบกับวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา พบว่า พื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังเริ่มลดลงในหลายพื้นที่ เช่น จ.นครศรีธรรมราช ลดลงกว่า 6 หมื่นไร่ โดยปัจจุบันมีพื้นที่น้ำท่วมจำนวน 153,852 ไร่ ซึ่ง อ.หัวไทร และร่อนพิบูลย์ ยังคงมีพื้นที่น้ำท่วมมากที่สุด ขณะที่ จ.สงขลา ลดลงประมาณ 15,000 ไร่ ปัจจุบันมีพื้นที่น้ำท่วมอยู่ที่ 62,000 ไร่ โดย อ.ระโนด ได้รับผลกระทบมากที่สุด
อย่างไรก็ตามจากการติดตามสภาพอากาศ พบว่า ตั้งแต่วันพรุ่งนี้เป็นต้นไปถึงวันที่ 8 ธันวาคมนี้ ฝนจะลดลงอย่างมากจากอิทธิพลลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมภาคใต้และอ่าวไทยอ่อนกำลังลง ซึ่งจะเป็นโอกาสดีที่จะเร่งการระบายมวลน้ำออกจากพื้นที่โดยเร็ว เพื่อลดผลกระทบในพื้นที่น้ำท่วมขัง ขณะที่การคาดการณ์แนวโน้มฝนที่จะเพิ่มขึ้นอีกครั้งตั้งแต่วันที่ 9 ธ.ค. แต่ปริมาณฝนจะไม่รุนแรง เป็นเพียงฝนระดับปานกลาง โดยจะตกหนักเป็นแห่ง ๆ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
“หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ อาทิ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมชลประทาน และหน่วยงานในจังหวัด ได้เร่งระดมเครื่องจักรเครื่องมือในการเร่งผลักดันน้ำ สูบน้ำเร่งระบายออกจากพื้นที่เกษตร รวมถึงชุมชน ตัวเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจให้กลับเข้าสู่ลำน้ำต่าง ๆ โดยเร็ว พร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งคาดว่าหากปริมาณฝนลดลงจะช่วยทำให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติในเร็ว ๆ นี้” ดร.สมเกียรติ กล่าว